Friday, March 29, 2024

เทคนิคการเก็บเงินซื้อบ้าน ฉบับมนุษย์เงินเดือน

Share

“บ้าน” คำ คำ นี้ความหมายมากกว่าการเป็นที่อยู่อาศัย สำหรับ ใครหลาย ๆ คน บ้านยังถือเป็นทั้งความฝัน เป้าหมายชีวิต ความมั่นคง อิสรภาพ และเป็นสถานที่ฟูมฟักความรักของครอบครัว แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า บ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง การจะซื้อ บ้านสักหลังจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อจะทำให้ฝันกลายเป็นจริงได้ สิ่งสำคัญที่ควรเริ่มทันทีคือการเก็บออม

สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถเก็บเงินง่ายที่สุด เพราะถึงอาจมีรายได้ต่อปีน้อยกว่าเจ้าของกิจการแต่ ก็มีรายได้ประจำที่แน่นอน ช่วยให้สามารถวางแผนและทำตามแผนได้ง่าย อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการมีรายได้ประจำ  ถ้าหากเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายได้รู้ข้อดีของการมีรายได้ประจำ และรู้เทคนิคการเก็บเงินแบบฉบับมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะความฝันอยากมีบ้านก็คงไม่ไกลความจริง

[su_note note_color=”#adff66″]คำเตือน : บทความนี้มีความยาวเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีแบบทดสอบเพื่อตรวจสุขภาพการเงินของเราด้วย แนะนำให้เซฟหรือบุ๊คมาร์คเอาไว้ เพื่อจะได้กลับมาอ่านต่อได้อีก ไม่ต้องเสียเวลาหานาน[/su_note]

สำรวจตัวเองก่อนออกเดินทาง

การเข้าใจและรู้จักตัวเองอย่างดีเป็นทักษะที่สำคัญที่จะทำให้เราไปได้ไกล คนที่รู้จักตัวเองดี รู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็สามารถเลือกงานที่ชอบและพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และเช่นเดียวกับเป้าหมายเก็บเงินซื้อบ้าน หากคุณรู้ว่าสภาพการเงินของคุณเป็นอย่างไร มีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง หรือรู้ศักยภาพของตัวเองว่าสามารถหารายได้จากทางอื่นเพิ่มเติมได้ ก็จะช่วยให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการเตรียมความพร้อมสำหรับทุกความฝัน

รู้จักข้อดีของมนุษย์เงินเดือน

อาชีพแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันไป แต่สำหรับด้านการเงินนั้น อาชีพที่ได้รับเงินประจำ หรือ ที่เรียกกันว่า “มนุษย์เงินเดือน” ถือว่าได้เปรียบหลายข้ออยู่เหมือนกัน

  • มีรายได้แน่นอน : รายได้ที่แน่นอนช่วยให้สามารถวางแผนและจัดการกับรายรับ – รายจ่ายได้ง่าย หากมีเป้าหมายทางการเงินก็สามารถคาดการณ์ระยะทางไปสู่เป้าหมายได้ไม่ยาก อีกทั้งยังถือว่าเป็นรายได้ที่มั่นคง
  • มีสวัสดิการ : พนักงานประจำโดยทั่วไป มักได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากองค์กรเช่น ประกันภัย ประกันสุขภาพ มีสมทบเบี้ยประกันสังคม หรือค่าเดินทาง เบี้ยขยัน เป็นต้น สวัสดิการเหล่านี้จะช่วยลดรายจ่ายที่คาดไม่ถึงได้
  • ได้รับโอกาสทางการเงินที่ดีกว่า : เนื่องจากมนุษย์เงินเดือนมีรายได้ต่อเดือนแน่นอนและมีสลิปเงินเดือน ธนาคารจึงเชื่อถือและปล่อยสินเชื่อให้ได้โดยง่ายทั้งสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล
  • มีเวลางานชัดเจนและวันหยุดที่แน่นอน : เวลางานและวันหยุดที่ชัดเจนจะช่วยให้มีเวลาเหลือสำหรับการพัฒนาตัวเองหรือหารายได้เสริม ซึ่งถือเป็นอีกข้อดีที่ช่วยให้เก็บเงินได้เร็วยิ่งขึ้น

ตรวจสุขภาพทางการเงิน

สุขภาพที่ดีบ่งบอกถึงความพร้อมในการใช้ชีวิตและการทำงาน เช่นเดียวกับสุขภาพการเงิน หากการเงินของคุณแข็งแรงก็หมายความว่าคุณพร้อมที่จะทำเป้าหมายทางการเงิน เช่น การเก็บเงินซื้อบ้าน เป็นต้น ให้สำเร็จได้ หรือถ้าถ้าสุขภาพการเงินของคุณมีปัญหา คุณจะได้เร่งดูแลและรักษาการเงินของคุณให้ดียิ่งขึ้น

ลองตอบคำถามสุขภาพการเงินต่อไปนี้ เพื่อดูว่าคุณแข็งแรงแค่ไหน?

1. คุณมีรายได้จากแหล่งใดบ้าง

ก. เงินเดือน
ข. กิจการหรือธุรกิจส่วนตัว ค่ารับจ้างอิสระ
ค. ไม่มีรายได้ประจำ

2. นอกจากรายได้ในข้อ 1 คุณมีรายได้จากช่องทางอื่นอีกหรือไม่

ก. มีรายได้ทางอื่นที่แน่นอนและต่อเนื่อง
ข. มีรายได้ทางอื่นที่ไม่แน่นอน
ค. ไม่มีรายได้อื่น

3. คุณออมเงินอย่างไร

ก. แบ่งเงินออมไว้ก่อนแล้วจึงใช้
ข. ใช้ก่อน เมื่อเหลือจึงเก็บออม
ค. ไม่ออมเงิน

4. เงินที่คุณออมคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้

ก. 20% ขึ้นไป
ข. 10% – 20%
ค. น้อยกว่า 10%

5. ปัจจุบันคุณมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่สามารถใช้ดำรงชีพได้นานเท่าไหร่

ก. มากกว่า 6 เดือน
ข. ประมาณ 3 – 6 เดือน
ค. ไม่ถึง 3 เดือน

6. คุณมีหนี้สินคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้

ก. 0% – 25%
ข. 25% – 40%
ค. มากกว่า 40%

7. คุณมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร

ก. มีการวางแผนก่อนใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่แน่นอน
ข. มีประมาณการค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ
ค. ไม่มีการวางแผนการใช้จ่าย เมื่ออยากได้อะไรก็ซื้อ

8. เมื่อเจอของที่ถูกในคุณจะ ..

ก. กลับไปคิดก่อนหรือตรวจสอบเงินส่วนที่แบ่งไว้ใช้จ่าย
ข. ซื้อ หากมีเงินและไม่กระทบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ค. ซื้อทันที

[su_note note_color=”#adff66″]ตอบข้อ ก. = 2 คะแนน, ตอบข้อ ข. = 1 คะแนน , ตอบข้อ ค. = 0 คะแนน[/su_note]

ผลลัพท์สุขภาพทางการเงิน

0-6 คะแนน : สุขภาพการเงินอ่อนแอ : สุขภาพการเงินของคุณยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง คุณมีพฤติกรรมการใช้เงินแค่ปัจจุบัน ไม่มีแผนการใช้จ่าย ไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงในระยะยาวมากนัก และไม่มีเงินออม ทำให้คุณมีแนวโน้มเป็นหนี้ได้ง่าย เพื่อรักษาสุขภาพการเงินของคุณให้ดีขึ้น คุณอาจเริ่มจากการคิดให้รอบคอบมากขึ้นทุกครั้งที่ซื้อของ และเริ่มแบ่งเงินเก็บก่อนทุกครั้งเมื่อมีรายได้

7-11 คะแนน : สุขภาพการเงินปกติ : สุขภาพการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คุณมีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ได้มองแค่ปัจจุบัน เพราะคุณยังเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตด้วยการออม และใช้จ่ายเงินอย่างมีสติ กระนั้นก็ตามเพื่อความไม่ประมาท คุณอาจจะลองเพิ่มจำนวนเงินออม และวางแผนการใช้จ่ายให้ละเอียดและรัดกุมมากขึ้น

12 คะแนนขึ้นไป : สุขภาพการเงินแข็งแรง : คุณมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรง เพราะคุณมีวินัยในการเก็บออมมีแผนใช้จ่ายที่ชัดเจน คิดอย่างรอบคอบก่อนจะซื้อของ ด้วยนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ คุณยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้การเงินของคุณด้วยการลงทุนเพิ่มเติมได้อีกด้วย

ติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายและสถานะการเงิน

วิธีที่จะรู้จักการเงินของตัวเองได้ดีที่สุดก็คือการติดตามการใช้เงินของคุณเอง ด้วยการทำ “บัญชี รายรับ-รายจ่าย” และตรวจสอบสถานะการเงินของคุณด้วยการทำ “งบดุล”

ทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายจะช่วยให้คุณทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ และสืบหา “รูรั่ว” ของกระเป๋าหรือรายจ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น เพื่อที่คุณจะได้จัดการการใช้จ่ายให้ดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างบัญชีรายรับ รายจ่าย

กระนั้น สำหรับหลาย ๆ คน อาจรู้สึกว่าการจดบัญชีรายรับ – รายจ่ายนั้น เป็นเรื่องยุ่งยาก น่าเบื่ออย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีโปรแกรมและแอปพลิเคชั่นบันทึกรายรับ – รายจ่ายอยู่มากมายที่อำนวยความสะดวกให้คุณได้ ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนคุณควรสรุปรายรับและรายจ่าย พร้อมทั้งวิเคราะห์รายจ่ายเป็นส่วนที่จำเป็นและส่วนที่ไม่จำเป็น รวมถึงดูภาพรวมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เพื่อง่ายต่อการบริหารและวางแผนการเงินต่อไป

ทำงบดุลส่วนบุคคล

อีกสิ่งที่ควรทำต่อจากการทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายส่วนตัวแล้ว ก็คือ การทำ “งบดุลส่วนบุคคล”(Personal Balance Sheet) หรือการสำรวจสินทรัพย์และหนี้สินของตัวเอง เพื่อทราบถึงสถานะ-การเงินว่ามีความมั่งคั่ง (Wealth) เท่าไร และเพื่อให้สามารถวางแผนบริหารสินทรัพย์และหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รู้จักสินทรัพย์และหนี้สิน

สินทรัพย์ หมายถึง สิ่งที่บุคคลเป็นเจ้าของ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น

1) สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด
2) สินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้น กองทุน
3) สินทรัพย์ส่วนบุคคล หรือ สิ่งของต่าง ๆ ที่บุคคลเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เสื้อผ้า เครื่องประดับ

หนี้สิน หมายถึง ภาระเงินที่ต้องชำระคืน โดยมากแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) หนี้สินระยะสั้น (กำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี) เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด
2) หนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หนี้รถยนต์

ลองสำรวจสินทรัพย์และหนี้สินของคุณดูง่าย ๆ ด้วยตารางนี้

ตารางสำรวจสินทรัพย์ และ หนี้สิน Personal Balance Sheet

การทำงบดุล นอกจากคุณจะรู้ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเท่าไรแล้ว คุณยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางเพิ่มพูนมูลค่าของสินทรัพย์คุณและบริหารหนี้สินให้หมดอย่างรวดเร็วได้ การรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีช่วยให้เรารู้จักจุดดีและจุดที่ต้องปรับปรุงทำให้รู้ว่าก่อนออกเดินทางควรจะเตรียมตัวอย่างไร และควรจะเดินทางต่อไปด้วยวิธีไหน ซึ่งต่อจากนี้ เราจะมาเริ่มตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพกัน

ตั้งเป้าหมายเก็บเงินซื้อบ้าน

ในการเดินทาง การมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้สามารถวางแผนการเดินทางให้ไปถึงจุดหมายได้โดยไม่หลงทาง และยังช่วยให้เราออกแบบการเดินทางได้เหมาะสมกับเรา จะช้าหรือเร็วเราก็ออกแบบได้ อีกทั้ง เมื่อเกิดเหนื่อยอ่อน ท้อถอย “เป้าหมาย” คือ สิ่งที่จะคอยยึดเหนี่ยวให้เรายังคงก้าวเดินต่อไปได้

การตั้งเป้าหมายที่ดีต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และการมีภาพความฝันที่ชัดเจนก็จะช่วยให้คุณมีกำลังใจที่เข้มแข็งในการออกเดินทางตามความฝัน กระนั้น การเก็บเงินซื้อบ้านสักหนึ่งหลังยังถือเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างยาวไกล ต้องใช้ความอดทน เวลา และความมุ่งมั่นเพื่อไปให้ถึงจุดหมายมีบ้านเป็นของตัวเองได้

** เป้าหมายที่ชัดเจน อาจจะยังไม่เพียงพอ **

วิธีการที่จะทำให้คุณเดินต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่หยุดยั้งและมีประสิทธิภาพ คือ การวางเป้าหมายให้มีความชัดเจน วัดผลได้ สำเร็จได้ เป็นจริง และมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งทั้งหมดนั้น คือ หลัก SMART Goal

การตั้งเป้าหมายด้วยหลัก SMART Goal

  • Specific : เป้าหมายเจาะจง มีรายละเอียดชัดเจน เช่น ทำอะไร เพื่ออะไร ใครช่วยได้บ้าง
  • Measurable : การตั้งเป้าหมายต้องสามารถวัดผลหรือติดตามความก้าวหน้าได้ เช่น ต้องการเก็บเงินจำนวน 100,000 บาท ต่อปี
  • Achievable : เป้าหมายที่ตั้งต้องเป็นสิ่งที่รู้ว่ามีทางสำเร็จ รู้วิธีการที่เดินไปถึงเป้าหมาย
  • Realistic : เป้าหมายต้องสามารถเป็นไปได้จริง ไม่ใช่เพียงความคิดฝัน
  • Time bound : มีระยะเวลากำหนดชัดเจนว่าต้องทำสำเร็จเมื่อไร เพื่อนำมาใช้วางแผนให้บรรลุเป้าหมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ

หลัก SMART Goal จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายเก็บเงินซื้อบ้านได้ ซึ่งเป้าหมายนี้ก็ถือเป็นเป้าหมายที่เจาะจง (Specific) และสามารถวัดผลได้ (Measureable) อยู่แล้ว เช่น “ต้องการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านจำนวน 1,000,000 บาท” เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการเก็บเงินจำนวนมากให้เป็นจริงได้นั้น “จำนวนเงิน” และ “ระยะเวลา” ต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งก็คืออีก 3 หลักที่เหลือ

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายเก็บเงินด้วยหลัก SMART Goal

เป้าหมาย : เก็บเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อซื้อบ้าน ภายในระยะ เวลา 6 ปี 6 เดือน (โดยมีรายได้ 360,000 บาท/ปี)

  • Specific เก็บเงินเพื่อใช้ซื้อบ้าน
  • Measurable เก็บเงินจำนวน 1,000,000 บาท (เป็นตัวเลข สามารถวัดผลได้)
  • Achievable ระยะเวลา 6 ปี 6 เดือน ต้องเก็บปีละ 150,000 บาท หรือประมาณ 40% ของรายได้ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้
  • Realistic จำนวนเงินที่ต้องการ จำนวนรายได้ และระยะเวลามีความสัมพันธ์กันถือว่าไม่เกินความเป็นจริง
  • Time bound เก็บเงินให้ถึงเป้าหมายภายใน 6 ปี 6 เดือน

แบ่งเป้าหมายออกเป็นระยะ

จากหลักการตั้งเป้าหมาย SMART คุณสามารถเสริมเทคนิคการจัดการกับเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการ “แบ่งเป้าหมาย” ให้เล็กลงหรือแบ่งเป็นระยะ

ตัวอย่างการแบ่งเป้าหมายออกเป็นระยะ

เป้าหมาย : เก็บเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อซื้อบ้าน ภายในระยะ เวลา 6 ปี 6 เดือน

ตัวอย่างการแบ่งเป้าหมายออกเป็นระยะ SMART Goal

การแบ่งเป้าหมายออกเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ จะช่วยให้คุณมีกำลังใจในการเดินตามความฝันได้ หากยึดมั่นเพียงเป้าหมายหลัก คือ 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นระยะที่ค่อนข้างยาวไกล ในระหว่างทางนั้น คุณอาจเหนื่อยหรือเกิดท้อ เนื่องจากไม่ถึงจุดหมายสักที และเพราะเป้าหมายเก็บเงินต้องใช้ระยะเวลานานหากไม่แบ่งเป้าหมายเป็นระยะเวลา 1 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ฯลฯ ว่าต้องสะสมเงินให้ได้เท่าไรแล้วคุณอาจผัดผ่อนการเก็บเงินออกไปซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาสำเร็จเป้าหมายล่าช้าออกไปอีก

ติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมาย

นอกจากการแบ่งเป้าหมายออกป็นระยะ ๆ จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จอยู่เรื่อย ๆ และมีกำลังใจสำหรับเป้าหมายใหญ่แล้ว เป้าหมายที่แบ่งออกเป็นระยะ ยังช่วยให้คุณติดตามความก้าวหน้าได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

การติดตามความก้าวหน้าคือสิ่งจำเป็นที่จะบอกว่าตอนนี้คุณเข้าใกล้ความจริงมากน้อยแค่ไหน หรือว่าล่าช้ากว่าเป้าหมายระยะต่าง ๆ ที่ตั้งใจไว้ เพื่อที่คุณจะได้เร่งมุ่งหน้าต่อหรือปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับคุณ

“ตั้งเป้าหมายด้วยหลัก SMART แบ่งเป้าหมายออก เป็นระยะ และติดตามความก้าวหน้าอยู่เสมอ”

เมื่อคุณเตรียมความพร้อมตัวเองเรียบร้อย มีจุดหมายที่ชัดเจน ทั้งจุดหมายปลายทางและระหว่างทางแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณพร้อมออกเดินทางตามความฝัน ด้วยเทคนิคเก็บเงินต่าง ๆ ในบทต่อไป

เทคนิคเก็บเงินซื้อบ้านฉบับมนุษย์เงินเดือน

การเก็บเงินสำหรับหลาย ๆ คน อาจเป็นเรื่องลำบาก ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาในการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ห้างร้านต่างออกโปรโมชั่นล่อใจกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หากเรารู้เทคนิคการเก็บออมที่มีประสิทธิภาพเราก็จะสามารถเก็บออมได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งต่าง ๆ ล่อใจให้อยากได้ก็ตาม

“เก็บก่อนใช้” คือหัวใจของการออม

แต่ก่อนมีความเชื่อกันว่า “มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก เหลือเท่าไรจึงเก็บ” ซึ่งหลายคนคงจะพิสูจน์ได้แล้วว่า “ไม่เป็นความจริง” เพราะในสังคมบริโภคนิยม พวกเราต่างถูกกระตุ้นให้อยากได้อยากซื้ออยู่ตลอดเวลา การ “ใช้ก่อนเก็บ” จึงแทบไม่มีทางเป็นไปได้

“เก็บก่อนใช้” คือหัวใจของการออม Save first use later

ทัศนคติต่อเงินออมที่ทำให้เรา “ใช้ก่อนเก็บ” นั้น เป็นเพราะเข้าใจกันว่า “เงินออม” = “เงินเหลือ” ซึ่งแท้จริงแล้ว เงินออม คือ เงินส่วนที่แบ่งสรรไว้ตั้งแต่ก่อนใช้ ให้คิดเสียว่า การออมเงินก็เป็นหน้าที่หน้าที่หนึ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เหมือนกับการชำระหนี้ในแต่ละเดือน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมอเท่ากันทุกเดือนนั้น แน่นอนว่า สามารถเก็บก่อนใช้ง่ายกว่าอาชีพที่มีรายได้แต่ละเดือนที่ไม่แน่นอน เพราะมนุษย์เงินเดือนสามารถวางแผนแบ่งเงินมาเก็บไว้ก่อนได้ทุกครั้งที่เงินเดือนออก และเทคนิคง่าย ๆ (แต่ประสิทธิภาพสูง) ให้สามารถเก็บก่อนใช้ได้ก็คือ การแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีเงินเดือน และ การตัดเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น

  • เป้าหมาย : เก็บเงินซื้อบ้านจำนวน 1,000,000 บาท เป็นเวลา 6 ปี 6 เดือน
  • ต้องเก็บเงิน ปีละ 150,000 บาท และ 75,000 บาท
  • ดังนั้น ต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 12,500 บาท
  • ก็ตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเงินออมอัตโนมัติทุกเดือน เดือนละ 12,500 บาท

“เงินออม” ไม่ใช่ “เงินเหลือ” แต่ “เงินเหลือ” สามารถนำมาเป็น “เงินออม” ได้

การแบ่งเงินออมออกมาจากอีกบัญชีที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญ ช่วยป้องกันการใช้จ่ายเงินในส่วนที่ตั้งใจแบ่งไว้แล้ว อีกทั้ง หากเปิดบัญชีแบบไม่รับบัตร ATM โอกาสที่คุณจะใช้เงินส่วนนี้ก็ลดน้อยลงไปด้วย ส่วนการตัดรายได้เข้าบัญชีเงินออมโดยอัตโนมัติโดยผูกกับบัญชีเงินเดือนจะช่วยให้คุณออมได้ตามเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายเก็บเงินได้ในทุกระยะนอกจากนี้ หากมีเงินเหลือจากเงินส่วนที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว คุณก็สามารถนำ “เงินเหลือ” มาเป็น “เงินออม” เพิ่มเติมได้เช่นกัน

เปลี่ยน “รูรั่ว” ให้เป็นเงินเก็บ

ในบทที่หนึ่ง เราได้รู้จักการติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วยการทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายกันไปแล้วซึ่งการทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายจะทำให้คุณทราบว่ามีรายจ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน และถ้าคุณวิเคราะห์รายจ่ายในแต่ละเดือน คุณก็จะพบรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมากมาย หรือ “รูรั่ว” ที่ทำให้คุณเก็บเงินไม่ได้

สำหรับใครที่จะเก็บเงินไปเที่ยวก่อนเพื่อสัมผัสบรรยากาศความเป็นส่วนตัวก่อนที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองจริง ๆ เราขอแนะนำเป็น honeymoon in thailand

รู้จักรายจ่ายให้ดียิ่งขึ้น

  • รายจ่ายจำเป็น (ประจำ) ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าของใช้อุปโภค ค่าเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นค่าการศึกษา รวมถึงภาระหนี้สินทุกชนิด เป็นต้น
  • รายจ่ายไม่จำเป็น (แปรผัน) ได้แก่ ค่าดูหนัง ท่องเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อความบันเทิงโดยรายจ่ายส่วนนี้ควรเป็นเงินส่วนหลังจากหักเงินออมและรายจ่ายส่วนที่จำเป็นออกแล้ว

รายได้ – เงินออม – รายจ่ายจำเป็น = รายจ่ายไม่จำเป็น

ในแต่ละเดือนให้คุณสำรวจและทำรายการเงินส่วนที่ไม่จำเป็นออกมาว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะรายจ่ายไม่จำเป็นที่จ่ายบ่อย ๆ จากนั้น ลองคำนวณว่าเป็นเงินเท่าไร

เงินของคุณรั่วไปไหน Money Leak

ยกตัวอย่าง 

ซื้อสลากกินแบ่งราคา 1,000 บาท โดยซื้อทุกงวด เท่ากับ 24 ครั้ง/เดือน
คิดเป็นเงิน 2,000 บาท/เดือน
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ สามารถลดจำนวนครั้งที่ซื้อลงได้ เช่น ซื้องวดเว้นงวด หรือ 12 ครั้งต่อปี ก็จะ สามารถออมเงินได้มากขึ้น 12,000 บาท เป็นต้น

การทำรายการรายจ่ายไม่จำเป็นและคำนวณเป็นจำนวนเงินต่อปีจะช่วยให้คุณเห็นจำนวนเงินที่รั่วไหลออกไปอย่างชัดเจน เมื่อลองทำดู คุณอาจตกใจกับจำนวนเงินที่สูญเสียไปกับสิ่งที่คุณไม่ได้ต้องการจริง ๆ เช่น ค่าสลากกินแบ่ง ค่าหวย ค่าบุหรี่ หรือค่ารับประทานอาหารข้างนอก เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถลดรายจ่ายพวกนี้ลงได้ และคุณก็อาจตกใจอีกครั้งเมื่อทราบว่า คุณสามารถออมเงินได้มากขึ้นแค่ไหน จากรายจ่ายส่วนนี้

ทำแผนรายจ่ายต่อเดือน

ในแต่ละองค์กร จะมีการตั้งงบประมาณไว้สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากรไปใช้ได้อย่างคุ้มค่า และไม่ก่อหนี้ เช่นเดียวกัน หากคุณตั้งงบประมาณการใช้จ่ายส่วนบุคคลหรือจัดทำแผนรายจ่ายในทุก ๆ เดือน คุณก็จะรู้ว่าใช้เงินมากเกินไปแล้วหรือยังนอกจากบัญชีรายรับ – รายจ่าย จะช่วยให้คุณรู้สาเหตุของเงินที่รั่วไหลแล้ว สิ่งที่คุณจะรู้ได้อีกก็คือประมาณการรายจ่ายแต่ละประเภทในแต่ละเดือน ซึ่งคุณสามารถนำมาวางแผนใช้จ่ายหรือตั้งงบประมาณให้ตัวเองได้ แน่นอนว่ารวมถึงแผนการออมด้วย

แผนรายจ่ายรายเดือน monthly expense

งบประมาณที่จัดสรรหรือตั้งงบไว้มาจากการประมาณการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งมนุษย์เงินเดือนผู้มีรายได้และรายจ่ายที่ค่อนข้างแน่นอนสม่ำเสมอ การทำแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจึงทำได้ง่าย ทั้งนี้สำหรับบางคนอาจใจร้อน อยากไปให้ถึงเป้าหมายเร็ว ๆ จนอาจกันเงินส่วนรายจ่ายเพื่อความบันเทิงน้อยเกินไป แม้จะเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ก็ต้องระวัง เพราะหากบีบบังคับตัวเองมากเกินไป คุณอาจทำไม่สำเร็จ ขาดกำลังใจ และท้อถอย จนแผนที่ตั้งใจไว้อาจต้องล้มเลิก

เทคนิคเก็บเงินต่าง ๆ ในบทนี้ คือ เทคนิคที่ช่วยคุณควบคุมการออมและการใช้จ่ายของตัวเองอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คุณเดินหนา้ สู่เป้าหมายได้ตลอด แม้จะมีสิ่งเร้ามากมายล่อใจไม่ให้คุณเก็บเงินและถ้าหากคุณต้องการเข้าใกล้เป้าหมายซื้อบ้านให้เร็วขึ้น ตัวช่วยซื้อบ้านในบทถัดไปน่าจะช่วยคุณได้

ตัวช่วยให้มีเงินซื้อบ้านได้เร็วขึ้น

เป้าหมายมีเงินซื้อบ้านดูช่างยาวไกล ต้องอาศัยแรงใจอย่างมากเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย อย่างไรก็ตาม การเก็บเงินระยะยาวก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายจิตใจ หลายคนอาจเหนื่อย ท้อถอย และหมดกำลังใจก่อนได้หากมีตัวช่วยใดที่สามารถทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นหรือร่นระยะทางสู่เป้าหมายให้ใกล้ขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ความฝันมีเงินซื้อบ้านมีโอกาสเป็นจริงยิ่งขึ้น

เดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย “การลงทุน”

สำหรับเป้าหมายการออมเงินเพื่อซื้อบ้าน การฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากระยะยาวดูจะเป็นวิธีที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะได้รับผลตอบแทนบ้างเล็กน้อย และแน่ใจได้ว่า เงินต้นไม่มีทางหายไปไหน กระนั้น หากใช้วิธีออมเงินเพียงทางเดียว ก็อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพอซื้อบ้านได้เทคนิคที่จะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินก้อนใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น และยังคงความมั่นคงของการออมเงินแบบธรรมดาไว้ได้ คือ “การแบ่งเงินเดือนมาลงทุน”

การฝากเงินแบบประจำช่วยให้คุณเก็บเงินเพิ่มได้ตลอด และป้องกันการถอนออกมาใช้ก่อนได้ แต่ในอีกแง่อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของเงินฝากได้ประมาณ 1% เท่านั้น แต่ถ้าคุณแบ่งเงินออมมาเป็น “เงินตั้งต้น” ลงทุน เงินตั้งต้นของคุณอาจเติบโตได้ถึง 5 – 15% ได้ หรือก็คือ เงินเก็บซื้อบ้านของคุณเติบโตเร็วขึ้นไปอีก

การแบ่งเงินออมมาลงทุน คุณต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปทำอะไร เพื่อจะได้เลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมาย หากต้องการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากและใช้ระยะเวลาเก็บหลายปี คุณก็สามารถเลือกการลงทุนที่มีผลประกอบการสูงเมื่อเฉลี่ยผลประกอบการในระยะยาวได้ และไม่ควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป

แผนการลงทุน Investment Plan

จากตัวอย่าง มีการกระจายการลงทุนให้ปลอดภัยโดยเลือกการฝากเงินประจำซึ่งมั่นคง เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังมีเงินสะสมแน่ ๆ ไม่ขาดทุน ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่ต้องอาศัยเวลาในการถือเพื่อทำกำไรและลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจำ

จากการฝากประจำเดือนละ 12,500 บาท 6 ปี จะเก็บเงินได้ 900,000 บาท หากจัดสรรแบ่งเงินออมมาลงทุนเช่นนี้ก็จะทำให้เก็บเงินได้มากกกว่าเดิม คือ 952,200 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บเงินเพิ่มเติมอีกเพียง 4 เดือน หรือถึงเป้าหมาย (1,000,000 บาท ในเวลา 6 ปี 6 เดือน) ก่อนเวลา 2 เดือน แม้จะถึงจุดหมายก่อนกำหนดเพียงไม่นาน อย่างไรก็เป็นการช่วยคุณประหยัดเงินที่ต้องมาออมซื้อบ้านได้อีกเล็กน้อย และต้องไม่ลืมว่า “จุดประสงค์หลักคือการออมไม่ใช่การลงทุนเพื่อทำกำไร”

ย่นระยะทางสู่เป้าหมายด้วย “สินเชื่อบ้าน”

ทุกวันนี้ ใครที่จะซื้อบ้านต่างขอสินเชื่อบ้านกันเป็นปกติ เพราะสินเชื่อบ้านสามารถร่นระยะทางสู่เป้าหมายลงได้ เพราะหากหวังพึ่งเพียงการเก็บเงินทางเดียว อาจต้องรอหลายปี แต่ถ้าขอสินเชื่อบ้านก็สามารถสร้างบ้านได้ตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่ตั้งเป้าหมาย

ดังนั้น เป้าหมายในการเก็บเงินซื้อบ้านสมัยนี้ อาจไม่ใช่การเก็บเงินซื้อบ้านราคาเต็ม หากแต่เป็นเงินก้อนแรกสำหรับดาวน์บ้าน

คุณสามารถย่นระยะเวลาสู่เป้าหมายให้ได้โดยการประมาณการค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ในการดาวน์บ้านได้จากวงเงินที่ธนาคารสามารถให้ได้ ซึ่งโดยทั่วไป ธนาคารจะให้วงเงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 80 – 100% ของราคาประเมินบ้านที่คุณจะซื้อ (ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดตามคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ) ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ได้แก่ ค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% ค่าจดจำนอง 1% และอื่น ๆ อีกราว 2% ของราคาบ้าน ดังนั้น คุณจึงต้องเตรียมเงินเพื่อจะซื้อบ้านประมาณ 5 – 25% ของราคาขาย

สินเชื่อบ้าน Home dept

จะเห็นได้ว่า การกำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนเงินก้อนแรกที่จำเป็นจริง ๆ สามารถร่นระยะทางสู่การมีบ้านให้เหลือเพียง 1 ใน 4 ของระยะทางได้ ทำให้ภาพฝันอยู่ใกล้ยิ่งขึ้น และทำให้เรายิ่งมีกำลังใจเก็บออมเงินซื้อบ้านได้จริง และ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีฐานเงินเดือนที่มั่นคงนั้นก็จะยิ่งขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายด้วย

ตัวช่วยทำให้มีเงินซื้อบ้านได้เร็วยิ่งขึ้นไม่ใช่ทางลัด เพราะอย่างไรคุณต้องอาศัยวินัยในการเก็บออมจัดสรรแบ่งเงินลงทุน หรือมีความรับผิดชอบในการผ่อนชำระหนี้สิน ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนไปสู่เป้าหมายซื้อบ้านทั้งหมดจะช่วยคุณได้ หากคุณมีความตั้งใจจริง แน่วแน่ และลงมือทำจริง ในบทสุดท้ายจะสรุปแผนทั้งหมดตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย และกรอบการวางแผนเบื้องต้นให้คุณสามารถมุ่งหน้าสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นคงและสำเร็จได้จริง

สรุปแผนเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน

เตรียมตัว ตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ ทุกความฝันจะเป็นจริงได้หากมีการเตรียมพร้อมที่ดี ตั้งเป้าหมายชัดเจนและมีแผนลงมือที่แน่นอน เช่นเดียวกันกับการเก็บเงินซื้อบ้าน ไม่ว่าฝันของคุณจะใหญ่แค่ไหน เทคนิคการเก็บเงินซื้อบ้านต่าง ๆ ในบทความนี้ จะช่วยให้คุณเตรียมตัวได้พร้อม มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีแผนเดินทางที่ไปสู่เป้าหมายได้จริง

ทบทวนหัวใจในการเก็บเงินซื้อบ้าน “เปลี่ยนฝันให้เป็นจริง”

  • เตรียมตัวให้พร้อม : เป้าหมายทางการเงินใด ๆ ต้องกลับมาดูว่า เรามีความพร้อมที่จะมุ่งหน้าต่อไปหรือไม่ การรู้จักตัวเองให้ดี รู้ว่าสถานะการเงินของตัวเองเป็นอย่างไร พฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไร มีอะไรที่เราต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนที่เราจะไปทำฝันที่ใหญ่มากขึ้นและวิเคราะห์เพื่อวางแผนทางเดินไปสู่เป้าหมายได้เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
  • ตั้งเป้าหมายชัดเจน : การมีภาพความฝันและเป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้เรามีกำลังใจที่เข้มแข็ง มุ่งหน้าไปได้โดยไม่หลงทาง หรือหากเหนื่อยล้าก็มี
    เป้าหมายให้ยึดเหนี่ยวให้ยังก้าวต่อไปได้ ทั้งนี้ เป้าหมายที่ดีจะต้องเกิดจากการรู้จักตัวเองให้ดี รู้ความสามารถและข้อดีของตัวเองเพื่อตั้งเป้าหมายให้เป็นจริงได้ รวมทั้ง เป้าหมายที่ดีต้องวัดผลได้อีกทั้งยังต้องมีระยะเวลาที่จะสำเร็จที่แน่นอนเพื่อให้สามารถติดตามได้ว่าเราใช้เวลาเหมาะสมกับแผนหรือไม่
  • ออกเดินตามแผน : การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ หนึ่งในหัวใจสำคัญที่สุดคือแผน หากเราออกแบบแผนได้เหมาะสมกับตัวเอง ประกอบกับนำเทคนิคต่าง ๆ
    ที่ช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จลงไปในแผนด้วย เป้าหมายที่เคยห่างไกลยากจะเอื้อม ก็จะอยู่ใกล้เพียงลงมือทำ ซึ่งคุณสามารถใช้กรอบแผนต่อไปนี้ ในการวางแผนเบื้องต้นเพื่อเก็บเงินซื้อบ้านของคุณได้

แผนเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน แผนเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน แผนเก็บเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน

แม้ว่าความฝันที่จะเก็บเงินซื้อบ้านดูเป็นความฝันที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่ว่าใครก็ทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้ด้วยความเพียรเก็บเงิน อย่างไม่ย่อท้อ อีกทั้ง รู้จักวางแผนและลงมือทำจริง แม้จะเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้น้อยเพียงใด ก็ยังสามารถเปลี่ยนบ้านในฝันให้เป็นจริงได้


แหล่งอ้างอิงข้อมูล

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Table of contents

Read more

Local News