Friday, April 19, 2024

ทำความรู้จักกับเกษตรทฤษฎีใหม่

Share

ปัญหาหลักของเกษตรกรที่สำคัญทุกยุคประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนนํ้าเพื่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อาศัยนํ้าฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศและส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงกับความแปรปรวนของสภาพดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง แม้ว่าจะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บนํ้าไว้ใช้บ้างแต่ก็ไม่มีขนาดแน่นอน หรือ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาให้มีนํ้าใช้ไม่เพียงพอ รวมทั้งระบบการปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ และส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

เกษตรทฤษฎีใหม่

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าวให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติโดยเฉพาะการขาดแคลนนํ้าได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดี

ทฤษฎีใหม่ : ทำไมใหม่

  1. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
  2. มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณนํ้าที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
  3. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีถึง 3 ขั้นตอน

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น หรือเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง”

การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง

เกษตรทฤษฎีใหม่

พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ขุดสระเก็บกักนํ้าเพื่อใช้เก็บกักนํ้าฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์นํ้า และพืชนํ้าต่าง ๆ

เกษตรทฤษฎีใหม่
ไร่นา

พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน สำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้

เกษตรทฤษฎีใหม่
สวนสตอเบอร์รี่

พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ปลูกไม้ผล – ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย

เกษตรทฤษฎีใหม่

พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่น ๆ

หลักการและแนวทางสำคัญ

  1. เป็นระบบการผลิตแบบพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำนองเดียวกับการ “ลงแขก” แบบดั้งเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่าย
  2. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนา 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
  3. ต้องมีนํ้าเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือ ระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระนํ้า โดยมีหลักว่าต้องมีนํ้าเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า

ต้องมีนํ้า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ (รวมเป็น 10 ไร่) จะต้องมีนํ้า 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้น หากมีพื้นที่ 15 ไร่ จึงมีสูตรคร่าว ๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย

    • นา 5 ไร่
    • พืชไร่พืชสวน 5 ไร่
    • สระนํ้า 3 ไร่ ลึก 4 เมตร จุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง
    • ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ 2 ไร่

รวมทั้งหมด 15 ไร่

แต่ทั้งนี้ ขนาดของสระเก็บกักนํ้าขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ดังนี้

    • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยนํ้าฝน สระนํ้าควรมีลักษณะเพื่อป้องกันไม่ให้นํ้าระเหยได้มากเกินไปซึ่งจะทำให้มีนํ้าใช้ตลอดทั้งปี
    • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระนํ้าอาจมีลักษณะลึกหรือตื้นและแคบหรือกว้างก็ได้โดยพิจารณาตามความเหมาะสมเพราะสามารถมีนํ้ามาเติมอยู่เรื่อย ๆ

การมีสระเก็บกักนํ้านั้นเพื่อเกษตรกรได้มีนํ้าใช้อย่างสมํ่าเสมอทั้งปี (ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึง การควบคุมให้ดีมีระบบนํ้าหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้งและระยะฝนทิ้งช่วง แต่มิได้หมายความว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวนาปรัง เพราะหากนํ้าในสระเก็บกักไม่พอ ในกรณีมีเขื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียงก็อาจจะต้องสูบนํ้ามาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้นํ้าในเขื่อนหมดได้แต่เกษตรกรควรทำนาในหน้าฝน และเมื่อถึงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ให้เกษตรกรใช้นํ้าที่ได้เก็บตุนนั้นให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอย่างสูงสุด โดยพิจารณาปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น

    • หน้าฝน จะมีนํ้ามากพอที่จะปลูกข้าวและพืชชนิดอื่น ๆ ได้
    • หน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ควรปลูกพืชที่ใช้นํ้าน้อย เช่น ถั่วต่าง ๆ
  1. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคำนวณและคำนึงจากอัตรา ถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 ไปเป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ
    • 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแรก ขุดสระนํ้า (สามารถเลี้ยงปลาปลูกพืชนํ้า เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฯลฯ ได้ด้วย)
    • 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สอง ทำนา
    • 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล – ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผักสมุนไพร เป็นต้น)
    • 30 เปอร์เซ็นต์ สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตากกองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ คุณสมบัติของดินปริมาณนํ้าฝนและสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น หรือหากพื้นที่ที่มีแหล่งนํ้ามาเติมสระได้ต่อเนื่องก็อาจลดขนาดของบ่อหรือสระนํ้าให้เล็กลง เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์อื่นต่อไปได้


แหล่งอ้างอิง

  • เอกสารเผยแพร่ “จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา” สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • ภาพประกอบ : www.freepik.com
กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News