Friday, April 19, 2024

เจาะลึกเทคโนโลยีของเหรียญ Monero (XMR)

Share

ที่มาที่ไปของเหรียญ Monero

เป้าหมายหลักของเหรียญ Monero ตั้งใจว่าจะมาปิดจุดบอดของบิทคอยน์ตรงที่ต้องการให้เป็นเหรียญที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้เปิดเผยตัวตนของผู้ใช้ ก่อนที่จะมีเหรียญ Monero (XMR) เกิดขึ้นนั้น Application Protocol ชื่อ CryptoNote เกิดขึ้นบนโลก และในองค์ประกอบของ Protocol ตัวนี้ก็มี Algorithm ที่ชื่อว่า CryptoNight ซึ่งถูกออกแบบการทำงานมาให้เป็นแบบ Proof-of-work โดยรองรับ CPU เป็นหลักในการถอดรหัส Algorithm ตัวนี้

ด้วยความที่ว่าการถือกำเนิดของ CryptoNote นั้นไม่ได้เป็นการนำ Source Code เดิมของ Bitcoin มาเปลี่ยน เป็นเพียงการทำ Concept มาใช้เท่านั้น มันจึงถือได้ว่าเป็นเหรียญที่เกิดใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่หมด จากนั้นไม่นานราว ๆ เดือน กรกฎาคม 2012 ก็มีการกำเนิดเหรียญ Bytecoin (BCN) ขึ้นมา เหรียญนี้เองน่ะแหละที่เป็นพื้นฐานเหรียญที่ Monero (XMR) นำมาพัฒนาต่อยอดอีกที และเปิดให้ชาวโลกได้รู้จักราว ๆ เดือน เมษายน 2014 จากสถิติย้อนหลังนั้น Monero (XMR) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงปี 2016 เป็นต้นมา เพราะความที่สามารถปิดบังตัวตนของผู้ใช้งานได้ จึงกลายเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Dark เว็บต่าง ๆ เช่น Darknet Market, AlphaBay เป็นต้น ใช้เวลาเพียงสองปีเอง

Monero Coin Marketcap
Monero Coin Marketcap : https://coinmarketcap.com/currencies/monero/

จะว่าไปแล้วบางกลุ่มก็มองภาพลักษณ์ของ Monero (XMR) ไปแนวทางที่ดูจะเป็นแง่ลบ เพราะมันกลายเป็นเหรียญยอดฮิตในตลาดมืดอย่างที่พูดไป พวกผู้ค้ายา หรือ พ่อค้าอาวุธ นี่เองน่าจะเป็นผู้ใช้งานเหรียญ Monero (XMR) เป็นหลักเลยก็ว่าได้

แรกเริ่มเดิมทีมันชื่อว่า BitMonero โปรเจคนี้ดูแลโดย thankful_for_today (ID ใน Bitcointalk.org) แล้วแต่มาก็มีการโอนผู้ดูแลไปเป็น David Latapie (ID ใน Bitcointalk.org) แล้วเปลี่ยนชื่อเหรียญเป็น Monero และแทนที่นาย thankful_for_today ด้วย fluffypony, tacotime, NoodleDoodle, smooth, othe, David Latapie, แล้วก็ eizh ปัจจุบันบางคนก็ออกไปแล้วแต่ยังเหลือทีมงานหลัก ๆ อยู่บ้างสามารถดูทีมงานได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

Monero: Monero Team

นอกเหนือจาก Core Team ก็ยังมี Developer ทีมซึ่งเป็นอาสาสมัครทั่วโลกกว่า 200 คน และยังมี Research Lab ด้วย ผมดูจากผลงานการพัฒนาก็มีผลลัพธ์ออกมาเยอะดีนะครับทีมค่อนข้างแข็งทีเดียวทีมพัฒนาเยอะมาก แต่เป็นแบบสมัครใจ ซึ่งแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สามารถดูผลงานได้จาก Link นี้ครับ

Monero Road map

ระบบเงินทุนของ Monero เป็นลักษณะ Funding สามารถเข้าไปดูได้ที่ Link นี้ https://forum.getmonero.org/8/funding-required ก็ออกแบบระบบมาดีครับ เป็น Community ที่แข็งเลยทีเดียว

ปริมาณเหรียญและการควบคุมปริมาณ

ปริมาณของเหรียญ Monero นั้นไม่มีจำนวนที่จำกัดในการผลิตออกมา ในปี 2018 นี้เหรียญ Monero (XMR) มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16,043,255 XMR และมีการประเมินเอาไว้ว่าภายในปี 2050 จะมีเหรียญ Monero ผลิตออกมาทั้งหมดที่ 22,482,673 XMR

เพื่อไม่ให้จำนวนเหรียญเฟ้อมากจนเกินไป เนื่องจากประสิทธิภาพของ CPU จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยทาง Monero จะมีอัลกอริทึ่มชื่อว่า Tail Emission ใช้ในการควบคุมปริมาณตรงนี้ ซึ่งหลักการทำงานของมันคือในช่วงแรก ๆ นั้นจะมีจำนวนเหรียญที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก นักขุดก็จะได้รางวัลในเมื่อขุดได้แต่มันก็จะมีความยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการขุด

การขุดเหรียญ Digital

ส่วนของผลตอบแทนสำหรับนักขุดตอนนี้ก็จะอยู่ที่ 0.6XMR/Block ซึ่งจะไม่เพิ่มไม่ลดไปจนถึงช่วงเดือน พ.ค. 2022 นู่นเลยซึ่งในช่วงเวลานี้จะเรียกว่า Pre-tail Emission ถ้าใครที่มี CPU ดี ๆ ก็จะขุดได้เยอะขึ้นเพราะจะยังไม่มีการควบคุมอัตราความเฟ้อของเหรียญ และมีการประเมินเอาไว้ว่าในปีนั้นจะมีจำนวนเหรียญ Monero ทั้งหมดประมาณ 18.132 ล้าน Monero … หลังจากนั้นเมื่อผ่านช่วง Pre-tail Emission ไปแล้วจะเข้าสู่ช่วง Tail Emission แล้ว โดยช่วงนี้จะถูกกำหนดไว้ว่า

ทุก ๆ 2 นาทีจะมี Block ของ Monero เกิดขึ้น 1 Block และในแต่ละบล๊อคจะมีจำนวน Monero เพียง 0.6 XMR เท่านั้น

หรือมันก็การควบคุมจำนวนเหรียญเฟ้อให้มีอัตราที่ 0.87% ต่อปีไปเรื่อย ๆ โดยหลักการนี้มันจะยังทำให้นักขุดสามารถขุดเหรียญได้ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ อยากรู้ว่า Monero จะมีจำนวนเท่าไหร่ในปีไหนดูได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ ทางผู้พัฒนาได้คำนวณเอาไว้ให้เราแล้ว จนถึงปี 2025 นู่นเลย เปรียบเทียบกับ Bitcoin ให้ดูด้วย

https://docs.google.com/spreadsheets/d/1qXi7zUSIh7F6UuSuhOryyFbHEy_LJuym3I3neAga_2s/edit?pli=1#gid=239466694

เทคโนโลยีน่าสนใจที่ทำงานเบื้องหลัง Monero

  1. CryptoNight Hash Algorithm  –  เป็น Algorithm ที่เข้าถึงได้ง่ายเนื่องจากสามารถขุดได้ จากคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ว่าจะคุ้มค่าขุดรึเปล่านั้นก็ว่ากันอีกเรื่อง Algorithm ตัวนี้ปัจจุบันปี 2018 (ที่เขียนบทความ) ก็วิ่งไปที่เวอร์ชั่น 7 แล้ว โดยได้เพิ่มความสามารถเพื่อไม่ให้เครื่องขุดจำพวก ASIC มาขุดเหรียญนี้ได้นั่นเอง
  2. Adaptive block size limit  – มันถูกออกแบบมาให้สามารถขยาย Block ได้อัตโนมัติเพื่อเพิ่มความจุให้กับจำนวน Transaction ในอนาคตได้ แล้วมันสำคัญยังไงผมอธิบายการทำงานของมันจะงง ๆ ผมขออธิบายปัญหาของ Bitcoin ดีกว่าจะได้เข้าใจว่าทำไม Monero ถึงมีข้อดีตรงนี้ ปัญหาเดิมใน Bitcoin คือ โดยปรกติ Bitcoin Block จะสร้างทุก ๆ 10 นาที โดย Block มันจะถูกจำกัดขนาดไว้ ถ้าจำกันได้ที่มัน Hard fork กันตอนที่เกิด Bitcoin Cash นั่นแหละเพราะความเห็นไม่ตรงกันเรื่อง Block size ด้วย ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับว่า ถ้าในช่วงที่มี Transaction เยอะ ๆ พื้นที่ ในการเก็บ Transaction มันไม่เพียงพอต่อการทำธุรกรรม Transaction นั้นจะ Delay และวิธีการที่จะทำให้มันเร็วมีครับ ถ้าคุณอยากได้เร็วต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม ซึ่งนี่แหละที่ Monero เค้าออกแบบมาแก้ไขตรงนี้ คือขยายขนาด Block ได้ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงรอบที่จะเกิด Block ใหม่ Block เดิมก็สามารถรองรับธุรกรรมได้
  3. Ring Signature – เป็นเทคนิคในการซ่อน Address ผู้ส่งเพื่อไม่ให้ link กลับมาได้ว่าใครส่ง ด้วยเหตุนี้เองนี่แหละที่ทำให้พวก Dark Side ทั้งหลายชอบใช้งาน Monero กันเป็นว่าเล่น เพราะมันสืบค้นหาต้นตอของคนส่งไม่ได้นั่นเอง
  4. Stealth addresses – เป็นเทคนิคในการซ่อน Address ผู้รับเงินเพื่อรับเงินโดยที่ไม่มีใคร link กลับไปได้ว่าเจ้าของคือใคร อันนี้ผมเคยพูดแล้วว่า Litecoin มีแผนจะพัฒนาเทคนิคนี้ คิดว่าน่าจะได้อิทธิพลมาจาก Monero นี่แหละ สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ https://youtu.be/hfz8UheSUys
  5. Ring Confidential Transaction – เป็นเทคนิคในการรับส่งเหรียญโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยจำนวนเหรียญ
  6. Kovri - เทคโนโลยี นี้ยังไม่เสร็จนะครับ แต่มันน่าสนใจตรงที่มัน Encryption จากต้นทางไปปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับหรือผู้ส่งจำเป็นจะต้องเปิดเผย IP ของตัวเอง หลักการเหมือนกับ dark net ที่เรียกกันว่า I2P (invisible internet project) โดยใช้ garlic encryption กับ garlic routing เป็น Open source project ที่น่าสนใจทีเดียว
  7. Open Alias  –  เป็นเทคโนโลยีที่เอาไว้เก็บชื่อกระเป๋าเพื่อให้จำได้ง่าย ๆ ภาษาเทคนิคเรียก FQDNs (Fully Qualified Domain Names, i.e. example.openalias.org) อันนี้จะช่วยให้คนใช้งานได้ง่ายขึ้น เหมือนกับเวลาเราพิมพ์ www.google.com แทนที่จะพิมพ์เป็น IP Address ประมาณนั้น

จริง ๆ เหรียญนี้มีอะไรเยอะมาก ๆ เลยแต่ผมหยิบมาเฉพาะที่ผมเห็นว่ามันเป็นเด่น ๆ เท่านั้นนะครับ

สรุปข้อดีของเหรียญ Monero

  1. สามารถขุดได้กันอย่างทั่วถึง โดยใช้คอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไปที่เราใช้งานกันอยู่นี่แหละ ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติม ถ้ามี CPU แรง ๆ ก็ขุดได้เยอะ
  2. เป็นเหรียญที่มี Community ที่ค่อนข้างแข็ง มีนักพัฒนาเยอะ มีนักวิจัยอยู่ในทีมด้วย
  3. มีแผนพัฒนาชัดเจน ผลงานการพัฒนามีให้เห็นเป็นรูปธรรม
  4. เด่นเรื่อง Privacy (แต่ไม่เด่นตรงคนเอาไปใช้ส่วนใหญ่เป็นพวกสายมืด)
  5. มีระบบเงินทุนเป็นลักษณะให้คนบริจาค ชัดเจนดี
  6. Community โปร่งใส (คนนำไปใช้ไม่โปร่งใส กับคนที่เข้ามาเจตนาไม่โปร่งใสคนละเรื่องกันนะครับ)

แหล่งที่มาของข้อมูล

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News