Thursday, March 28, 2024

การปลูกข้าว “พันธุ์สกลนคร”

Share

พันธุ์ข้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกข้าวหรือทำนา แม้ว่าปัจจุบันจะมีพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ปลูกอย่างกว้างขวาง แต่เทคนิคการจัดการเพาะปลูกข้าว มีข้อแตกต่างกันออกไปแต่ละพันธุ์ ซึ่งเทคนิคเฉพาะพันธุ์นี้เองที่ชาวนายังไม่เข้าใจถึงองค์ความรู้วิธีการจัดการที่ถูกต้อง

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ดำเนินการค้นคว้าวิจัยและสาธิตการปลูกข้าว “พันธุ์สกลนคร” มาเป็นระยะเวลานานจึงได้จัดทำเป็นเอกสาร “คู่มือการปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้โดยเฉพาะเทคนิคเฉพาะและพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปใช้เป็นแนวทางเพาะปลูกข้าวได้

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวนา โดยเฉพาะชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดการเพาะปลูกให้ถูกวิธี ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิตในการทำนา

ประวัติความเป็นมาของข้าวเหนียวพันธุ์สกลนคร

ข้าวพันธุ์สกลนคร เป็นข้าวเหนียว มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง ผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์หอมอ้นเป็นพันธุ์แม่ กับพันธุ์กข10 เป็นพันธุ์พ่อ ที่สถานีทดลองข้าวขอนแก่น ในปี 2525 นำมาปลูกศึกษาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ตั้งแต่ปี 2534 ในชื่อ “สกลนคร 69 หรือ SKN 69” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “หอมภูพาน” มีการขยายผลสู่เกษตรกรในจังหวัดสกลนครและใกล้เคียงทั้งแบบข้าวไร่และข้าวนาสวน

การรับรองพันธุ์

คณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 ในชื่อพันธุ์ “สกลนคร”

ลักษณะประจำพันธุ์

  • เป็นข้าวเหนียวหอม มีต้นสูงประมาณ 123 – 146 เซนติเมตร
  • ไม่ไวต่อช่วงแสง
  • อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 – 128 วัน
  • ทรงกอตั้ง ปล้องและกาบใบสีเขียว มีขนบนใบ ใบธงตั้งตรง
  • การร่วงของเมล็ด ค่อนข้างยาก
  • เมล็ดข้าวเปลือกมีสีฟาง
  • ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 3 สัปดาห์
  • ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง กว้าง x ยาว x หนา = 2.2 x 3.8 x 1.8 มิลลิเมตร

ผลผลิต

ประมาณ 467 กิโลกรัม/ไร่

ลักษณะเด่น

  • เป็นข้าวที่ปรับตัวได้หลายสภาพ ปลูกได้ทั้งสภาพนาดอน นาชลประทานและสภาพไร่
  • คุณภาพการหุงต้ม ข้าวสุกเหนียว นุ่ม มีกลิ่นหอมใกล้เคียงพันธุ์ กข6

ข้อควรระวัง

  • ไม่ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง
  • ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

พื้นที่แนะนำ

พื้นที่นาดอน นาชลประทาน และสภาพไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ฤดูปลูก

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร

ข้าวพันธุ์สกลนคร ปลูกได้ตลอดปี แต่ควรวางแผนการปลูกให้เหมาะสม คือให้ข้าวพันธุ์สกลนครออกรวงพร้อมกับข้าวที่ปลูกในพื้นที่เพื่อลดการทำลายของศัตรูข้าว เช่น นก หนู และแมลงศัตรูข้าว

  • สภาพไร่ ปลูกต้นฤดูฝน ปลายเมษายนถึงต้นพฤษภาคม
  • สภาพนาอาศัยน้ำฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และวางแผนการปลูกให้ข้าวออกรวงพร้อมกับข้าวพันธุ์อื่น เพื่อลดการทำลายของศัตรูข้าว
  • สภาพนาชลประทาน ปลูกได้ตลอดปี

การปลูก

การปลูกโดยวิธีปักดำ

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การทำนาดำ
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การทำนาดำ
  1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ มีความงอกสูงสะอาด ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งเจือปน จะทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง
  2. อัตราเมล็ดพันธุ์ อัตราเมล็ดพันธุ์ที่แนะนำให้ใช้ตกกล้าสำหรับปักดำในพื้นที่ 1 ไร่ คือ 5 กิโลกรัม โดยเมล็ดมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
  3. การตกกล้า นำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้บรรจุในถุงผ้าดิบ หรือ กระสอบป่าน แช่น้ำสะอาดเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ ไปหุ้มในที่ร่ม วางบนพื้นที่น้ำไม่ขังและมีการถ่ายเทของอากาศดี คลุมด้วยกระสอบป่าน รดน้ำเช้าและเย็นเพื่อรักษาความชื้น หุ้มเมล็ดพันธุ์นาน 30-48 ชั่วโมง เมล็ดพันธุ์ข้าวจะงอก “ตุ่มตา” (มีราก และยอดเล็กน้อย) พร้อมที่จะนำไปหว่านได้
    • การหว่าน ควรหว่านเมล็ดข้าวงอกลงในแปลงที่มีการเตรียมดินดี โดยแบ่งแปลงกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องหว่านปุ๋ยเคมี ถ้าดินไม่อุดมสมบูรณ์ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 สำหรับนาดินทรายหรือสูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ หว่านปุ๋ยก่อน แล้วหว่านข้าวงอกตาม โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 50-60 กรัม/ตารางเมตร ดูแลแปลงกล้าอย่างสม่ำเสมอ รักษาระดับน้ำในแปลงกล้าให้สูงประมาณ 1 ใน 3 ของความสูงต้นกล้า จะช่วยให้ต้นกล้าแข็งแรง
  4. การเตรียมดิน ไถดะขณะดินชื้นหรือน้ำขัง ปล่อยให้เมล็ดวัชพืชงอก 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นไถแปร คราด หรือทำเทือกปรับระดับดินให้สม่ำเสมอมากที่สุด
  5. การปักดำ อายุกล้าที่เหมาะสมในการปักดำคือ 21-25 วัน ระยะปักดำ ระยะห่างระหว่างต้น และระหว่างแถวเท่ากับ 20 ซม. ใช้ต้นกล้า 3-5 ต้นต่อจับ
  6. การใส่ปุ๋ย ควรมีการใส่ปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง โสนอัฟริกัน พืชตระกูลถั่วอื่น ๆ หรือปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมีใส่ 2 ครั้ง ดังนี้
    • ครั้งที่ 1 (รองพื้น) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 สำหรับนาดินทราย สูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ก่อนปักดำ 1 วัน หรือ 5-7 วันหลังปักดำ
    • ครั้งที่ 2 (แต่งหน้า) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวกำเนิดช่อดอก

การปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม

ข้าวพันธุ์สกลนครสามารถปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตมได้ในสภาพนาชลประทาน ดังนี้

  1. การเตรียมดิน การทำนาหว่านน้ำตมให้ได้ผลดี ต้องมีการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอมีคันนาล้อมรอบ สามารถควบคุมระดับน้ำได้การเตรียมดินปฏิบัติเช่นเดียวกับนาดำ หลังจากไถดะแล้วปล่อยน้ำเข้าพอดินชุ่มทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดวัชพืชงอกแล้วจึงไถแปร คราด 2-3 ครั้ง เพื่อกำจัดวัชพืช และปรับพื้นที่ แบ่งกระทงนาออกเป็นแปลงย่อยขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาวไปทางทิศทางลม ปรับเทือกให้สม่ำเสมอทิ้งไว้ 1 วันสำหรับดินเหนียว ส่วนดินทรายหว่านในวันเดียวกันกับที่เตรียมดิน
  2. อัตราเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซนต์ อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่ แช่เมล็ดพันธุ์ที่บรรจุในถุงผ้าดิบหรือกระสอบป่านในน้ำสะอาด 24-48 ชั่วโมง แล้วนำไปหุ้มในที่ร่ม วางบนพื้นที่ไม่มีน้ำขังมีอากาศถ่ายเท รดน้ำเช้าเย็น หุ้มเมล็ดนาน 30-48 ชั่วโมง เมล็ดข้าวจะงอกเป็นตุ่มตาสามารถใช้หว่านได้
  3. การใส่ปุ๋ย
    • ครั้งที่ 1 (รองพื้น) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 สำหรับนาดินทราย สูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวอายุ 20-25 วัน
    • ครั้งที่ 2 (แต่งหน้า) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 10-20 กิโลกรัม/ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวกำเนิดช่อดอก

การปลูกสภาพไร่

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกสภาพไร่
การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร การปลูกสภาพไร่

ข้าวพันธุ์สกลนคร นอกจากปลูกโดยวิธีปักดำและหว่านน้ำตมแล้ว ยังสามารถปลูกแบบสภาพไร่ เป็นข้าวไร่ได้ดี

  1. การเตรียมดิน ในสภาพไร่ เตรียมดินตั้งแต่ต้นฤดูฝน ไถดะ ตากดิน และให้เมล็ดวัชพืชงอก 5-10 วัน ไถแปรและคราดให้ดินเรียบสม่ำเสมอ
  2. อัตราเมล็ดพันธุ์ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ การปลูกในสภาพไร่ ปลูกได้หลายวิธีที่แนะนำคือ ปลูกโดยหยอดเป็นหลุมใช้ไม้กระทุ้งเป็นหลุมลึกประมาณ 3 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวและหลุม 25 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงในหลุม 3-5 เมล็ด/หลุม จะใช้เมล็ดพันธุ์ 5-8 กิโลกรัม/ไร่ หรือใช้เครื่องหยอด เช่น เครื่องหยอดข้าวไร่แบบล้อจิก ปรับระยะระหว่างหลุมและระหว่างแถว 25 เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-8 กิโลกรัม/ไร่
  3. การใส่ปุ๋ย ในสภาพไร่ใส่ปุ๋ย 2 ครั้งดังนี้
    • ครั้งที่ 1 (รองพื้น) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวอายุ 20-25 วัน
    • ครั้งที่ 2 (แต่งหน้า) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 10-20 กิโลกรัม/ไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อข้าวกำเนิดช่อดอกก่อนการใส่ปุ๋ยทั้ง 2 ครั้ง ควรกำจัดวัชพืชก่อนและดินควรมีความชื้น

การดูแลรักษา

  1. การควบคุมระดับน้ำในนา ในนาปักดำ ระดับน้ำในนาที่เหมาะสมคือ ระดับความสูง 5-10 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ถ้าระดับน้ำสูงมาก ทำให้ต้นข้าวแตกกอน้อย เกิดโรคและแมลงเข้ามาทำลายได้ง่าย มีผลต่อผลผลิต
    ในนาหว่านน้ำตม ขณะกล้ายังเล็กให้คุมระดับน้ำ 1 ใน 3 ของต้นข้าว เมื่อข้าวสูงขึ้น คุมระดับน้ำที่ 5-10 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 20 เซนติเมตร ระดับน้ำสูงเกินไปทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ล้มง่าย
  2. การควบคุมวัชพืช การใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเมล็ดวัชพืชปะปน มีการเตรียมดินที่ดี ระยะปักดำเหมาะสม ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ตามคำแนะนำ และมีการควบคุมระดับน้ำในนา จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มาก ส่วนในสภาพไร่ การกำจัดวัชพืช
    ครั้งแรกที่อายุ 20-25 วัน มีความจำเป็นมาก
  3. การป้องกันกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรู ข้าวพันธุ์สกลนครไม่ต้านทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ไม่ต้านทาน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนั้นมักพบแมลงสิงเข้าทำลาย ในสภาพไร่มีนก หนูทำลาย ถ้ามีการปลูกข้าวเป็นพื้นที่น้อยในบริเวณนั้น หรือช่วงเวลาปลูกเร็วเกินไป ทำให้ข้าวออกดอกก่อนข้าวทั่วไป เกษตรกรควรวางแผนการปลูกให้เหมาะสมและ หมั่นตรวจแปลงข้าว ในกรณีมีศัตรูข้าวระบาดให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดตามคำแนะนำการป้องกันกำจัดโรค แมลงศัตรูข้าวทั่วไป

การเก็บเกี่ยวและการนวด

ในระยะข้าวตั้งท้องและเริ่มออกรวง ระวังอย่าให้ข้าวขาดน้ำ เพราะจะทำให้การสร้างเมล็ดไม่สมบูรณ์เมล็ดลีบ ก่อนข้าวสุกแก่ 7-10 วัน ควรระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกันและดินแห้ง สะดวกในการเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวคุณภาพดี

การเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์สกลนคร เมื่ออายุ 24-28 วันหลังออกดอก แล้วนวด ไม่ควรตากฟ่อนข้าว

หลังจากนวดให้ตากเมล็ดจนแห้งและทำความสะอาดเมล็ดก่อนเก็บรักษาเช่นเดียวกับข้าวทั่วไป การเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์สกลนครที่อายุเกิน 30 วัน ทำให้นวดยากและเกิดการสูญเสียผลิตผล

การลงทุน

ต้นทุนและรายได้จากการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สกลนครในพื้นที่ 1 ไร่

ลำดับ รายการ นาดำ (บาท) นาหว่าน (บาท) นาโยน (บาท)
1 ค่าเมล็ดพันธุ์ (กก.ละ 23 บาท) 115 276 115
2 ค่าไถดะ 250 250 250
3 ค่าตกกล้า + ถอนกล้า 450 664
4 ค่าถอนกล้า (120 มัด/ไร่) 360
5 ค่าไถแปร + คราด 350 350 350
6 ค่าปุ๋ย 591 591 591
7 ค่าปักดำ (วันละ 200 บาท) 800 200 200
8 ค่าสารกำจัดวัชพืช 350
9 ค่าเก็บเกี่ยว 400 600 400
รวมต้นทุนการผลิต 3,316 2,617 2,570
ผลผลิต (กิโลกรัม) 536 378 598
ราคากิโลกรัมละ 12 บาท 9,792 6,426 10,166
กำไร 6,476 3,809 7,596

หมายเหตุ : ข้อมูลปี พ.ศ. 2554


อ้างอิงบทความ

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News