หลักการดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อบทความ “เกษตรทฤษฎีใหม่คืออะไร” เป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง เมื่อเกษตรกรเข้าใจหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกิน และตัดค่าใช้จ่ายลงเกือบทั้งหมด มีอิสระจากสภาพปัจจัยภายนอกแล้วและเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและสามอย่างต่อเนื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า สารบัญ เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองการดำเนินการตามเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สามประโยชน์ของเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง “เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติที่ดินของตนเองจนได้ผลแล้วก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ร่วมแรงในการผลิตการตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศรัทธาเพื่อให้พอมีกินมีใช้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นพร้อม ๆ กันไม่รวยคนเดียว” (พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) การดำเนินการตามเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ) เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดการน้ำ และอื่นๆ เพื่อการเพาะปลูก การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต) เมื่อมีผลผลิตแล้วจะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการร่วมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลง การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้าที่พอเพียง สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้) แต่ละชุมชนมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา) ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชน สังคมและศาสนา (ชุมชน วัด) ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกชุมชนเป็นสำคัญ เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม “เมื่อดำเนินการขั้นตอนที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชนบทซึ่งไม่ได้ทำอาชีพเกษตรอย่างเดียว” (พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538) ทั้งนี้ ฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา) ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง) เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาต่ำ เนื่องจากรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง) ธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ประโยชน์ของเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ นั้น พอสรุปถึงประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ได้ดังนี้ ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัดไม่อดอยากและเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา หรือทำอะไรอื่น ๆ ก็ได้แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ ไม่ต้องเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่เพราะมีของตนเอง ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้ร่ำรวยขึ้นได้ ในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากเกินไป อันเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย อ้างอิงเนื้อหา เอกสารเผยแพร่ “คู่มือที่ 12 : เกษตรทฤษฎีใหม่” กลุ่มงานขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภาพประกอบ : www.freepik.com