Tuesday, March 19, 2024

การปลูกข้าว “พันธุ์ขาวดอกมะลิ”

Share

พันธุ์ข้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกข้าวหรือทำนา แม้ว่าปัจจุบันจะมีพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ปลูกอย่างกว้างขวาง แต่เทคนิคการจัดการเพาะปลูกข้าว มีข้อแตกต่างกันออกไปแต่ละพันธุ์ ซึ่งเทคนิคเฉพาะพันธุ์นี้เองที่ชาวนายังไม่เข้าใจถึงองค์ความรู้วิธีการจัดการที่ถูกต้องนัก

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
นาข้าวและการปลูกข้าว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ดำเนินการค้นคว้า วิจัย และสาธิตการปลูกข้าว “พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105” มาเป็นระยะเวลานานจึงได้จัดทำเป็นเอกสาร “คู่มือการปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ โดยเฉพาะเทคนิคเฉพาะพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำไปเป็นแนวทางเพาะปลูกได้ถูกต้อง

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
นาข้าว

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวนา โดยเฉพาะชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดการเพาะปลูกให้ถูกวิธี ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิตในการทำนา

ประวัติความเป็นมาของข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ 105

ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่ได้จากการนำข้าว พันธุ์พื้นเมืองจากนาเกษตรกร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนายสุนทร สีหะเนิน เป็นผู้รวบรวมในปี 2493-2494 จำนวน 199 รวง มาปลูกเพื่อศึกษาพันธุ์ ได้ข้าวรวงที่ 105 ที่มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อนำมาหุงต้มมีกลิ่นหอม และเมล็ดอ่อนนุ่ม จึงนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ ในปี พ.ศ. 2498 ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ. 2500 นำเข้าแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี พ.ศ. 2502 ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ให้ขยายพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพันธุ์ ข้าว
ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2502

ลักษณะประจำพันธุ์

  1. เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
  2. เป็นข้าวต้นสูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร
  3. อายุดอกประมาณ วันที่ 20 ตุลาคม และสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ ประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายน
  4. ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์
  5. ขนาดเมล็ดข้าวกล้องยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.1 มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร
  6. ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน

ข้อดี

  1. เมื่อนำมาหุงต้ม มีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่ม
  2. ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยว และดินเค็ม
  3. คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย
  4. นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย
  5. เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี

ข้อจำกัด

  1. ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคไหม้และโรคใบหงิก
  2. ไม่ต้านทานแมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดดสีนํ้าตาล
  3. ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

ผลผลิต

ผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้ผลผลิตข้าว โดยเฉลี่ย 481 กก./ไร่ (แปลงปุ๋ยสั่งตัดมาปี 2553)

พื้นที่แนะนำ

นาน้ำฝน นาชลประทาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางบางจังหวัด

ฤดูปลูก

การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร
นาขาวและการปลูกข้าว

การปลูก

การปลูกข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ นาดำ
การปลูกข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ นาดำ
การปลูกข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ นาหว่านน้ำตม
การปลูกข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ นาหว่านน้ำตม
  1. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์อื่นหรือสิ่งเจือปน เช่น เมล็ดวัชพืช และมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
  2. เลือกวิธีการปลูกและช่วงเวลาที่เหมาะสม
    • ในเขตชลประทาน หรือนาน้ำฝนที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ ควรทำนาดำ หรือ นาหว่านน้ำตมแผนใหม่ โดยนาดำเริ่มตกกล้าต้นเดือนกรกฎาคม ปักดำต้นสิงหาคม แล้วข้าวจะออกดอกประมาณ ๒๐ ตุลาคม และเก็บเกี่ยวได้ ๒๐ พฤศจิกายน ส่วนนาหว่านน้ำตมแผนใหม่ หว่านประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ถึงปลายเดือนกรกฎาคมแล้วเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
    • ในพื้นที่ฝนตกน้อยหรือฝนล่า ควรทำนาหว่าน หรือ นาหยอด โดยช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม อยู่ระหว่างต้นเดือนกรกฎาคม ถึงปลายเดือนกรกฎาคมและข้าวจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
  3. การเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวขาวหอมมะลิ 105
    • นาดำ ไถดะทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงไถแปร เพื่อกำจัดต้นอ่อนของวัชพืชที่งอกขึ้นมาใหม่ โดยคราดวัชพืชให้จมอยู่ใต้โคลน ในขณะเดียวกันก็เกลี่ยปรับระดับหน้าดิน จะทำให้ระดับน้ำในแปลงนาท่วมคลุมวัชพืชได้อย่างทั่วถึง
    • นาหว่านน้ำตมแผนใหม่ โดยเริ่มจากการไถดะทิ้งไว้ประมาณ 15 วันแล้ว ไถแปรทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นไถแปรอีกครั้ง แล้วคราดพร้อมเก็บเศษวัชพืชออกให้หมดหรือเหยียบเศษวัชพืชให้ลงไปอยู่ใต้โคลน แล้วจึงลูบเทือกให้เรียบสม่ำเสมอ แบ่งแปลงย่อยขนาดกว้าง 3-5 เมตร ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงหว่านเมล็ดข้าวงอกอัตราเมล็ดพันธุ์ 7-12 กก./ไร่ หลังจากนั้น 5-10 วัน ให้ทยอยปล่อยน้ำเข้าท่วมหน้าดิน เพื่อคุมวัชพืชตามระดับน้ำจนถึงระดับประมาณ 5-10 เซนติเมตร ต้นข้าวเจริญเติบโตพอที่จะคลุมวัชพืชได้
    • นาหว่านข้าวแห้ง ในสภาพดินร่วนปนทราย และดินทรายปนดินร่วน จะเตรียมดินโดยการไถพรวนแล้วหว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นคราดกลบ ถ้ามีฟางคลุมจะช่วยลดปัญหาวัชพืช
    • นาหยอด เป็นวิธีที่ไม่นิยมปลูกมากนัก แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องปลูกด้วยวิธีนี้ในช่วงเตรียมดินจะต้องกำจัดวัชพืชออกให้หมด และหลังจากหยอดเมล็ดข้าวแล้วถ้ามีฟางข้าวคลุมดินจะช่วยลดปัญหาวัชพืช
  4. ใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม กล่าวคือ วิธีปักดำ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่นาหว่านน้ำตมแผนใหม่ 7-12 กิโลกรัมต่อไร่ นาหว่านข้าวแห้ง ควรใช้ในอัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ และวิธีหยอด 8-10 กิโลกรัมต่อไร่

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยเคมี

ใส่ในอัตราที่เหมาะสมและถูกวิธีดังนี้ การใส่ปุ๋ยนาดำควรใส่ 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่ 1 ใส่ก่อนปักดำไม่เกิน 1 วัน หรือหลังปักดำประมาณ 7-10 วัน หรือ หลังข้าวงอก 20-25 วัน ในนาหยอด และนาหว่าน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0, 20-20-0, 24-22-0 หรือ 18-46-0 ในดินเหนียว และสูตร 16-16-8 ในดินทราย อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่
  • ครั้งที่ 2 ใส่ก่อนข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน (ประมาณวันที่ 20 กันยายนของทุกปี) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่

ในการใส่ปุ๋ยเคมีทุกครั้งแปลงนาควรมีน้ำขังหรือดินมีความชื้น เพื่อข้าวสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์

  1. ไถกลบตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว
  2. ไถพรวนแล้วหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดด้วยโสนอัฟริกัน ถ้าเป็นสภาพนาลุ่ม และปอเทือง ถ้าเป็นสภาพนาดอน ในอัตรา 5-7 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบโสนอัฟริกันเมื่ออายุประมาณ 55 วัน หรือปอเทืองในระยะออกดอกและตัดฝักอ่อน และปล่อยให้เกิดการย่อยสลายประมาณ 2 สัปดาห์
  3. หว่านปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักใน อัตรา 500-1,000กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบก่อนการปักดำ 15-20 วัน

การดูแลรักษา

โรคที่สำคัญ

โรคไหม้

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc.

การป้องกันกำจัด :

  1. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป
  2. ในแหล่งที่เคยเป็นโรคใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์ เช่น ไตรไซคลาโซล คาร์เบนดาซิม โพรคลอราด ตามที่ระบุในฉลากยา และเมื่อพบแผลโรคไหม้ทั่วไป ๕ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบฉีดพ่น สารป้องกันเชื้อรา คาซูกาไมซิน ไตรไซคลาโซล คาร์เบนดาซิม อิดิเฟนฟอส ตามอัตราที่ระบุ

โรคขอบใบแห้ง

เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et. al.

การป้องกันกำจัด :

  1. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไปในดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว
  2. ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
  3. ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต + ออกซีเตทตราไซคลิน ไฮโดรคลอร์ไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ หรือไอโซโพรไทโอเลน เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว

โรคใบจุดสีนํ้าตาล

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Bipolaris oryzae (Helminthosporium oryzae Breda de Haan.)

การป้องกันกำจัด :

  1. คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม – แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม
  2. ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยให้ข้าวเป็นโรคน้อยลง
  3. กำจัดวัชพืชในนา ทำแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม
  4. ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม – แมนโคเซบตามอัตราที่ระบุ

แมลงที่สำคัญ

เพลี้ยกระโดดสีนํ้าตาล

การป้องกันกำจัด :

  1. ในแหล่งที่มีการระบาด และควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำ หรือหว่าน 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  2. เมื่อตรวจพบสัดส่วนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยต่อมวนเขียวดูดไข่ ระหว่าง 6:1-8:1 หรือตัวอ่อนวัยที่ 1-2 เมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน จำนวนมากกว่า 10 ตัว/ต้นให้ใช้สารฆ่าแมลง บูโพรเฟซิน (แอปพลอด 10% ดับบลิวพี) อัตรา 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้สาร อีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน 10% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน/ไอโซโพรคาร์บ (แอปพลอด/มิพซิน 5%/20% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เมื่อพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อ 1 ต้น และไม่พบหรือพบมวนเขียวดูดไข่น้อยมาก ให้ใช้สารอีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน 10% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 110 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือไอโซโพรคาร์บ (มิพซิน 50% ดับบลิวพี) อัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารฟีโนบูคาร์บ (บีพีเอ็มซี 50% อีซี) อัตรา 60 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัว/กอ หรือ 1 ตัวต่อ 1 ต้น และพบมวนเขียวดูดไข่จำนวนน้อยมาก ให้ใช้สารไทอะมิโทแซม (แอคทารา 25% ดับบลิวพี) อัตรา 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูเรน (สตาร์เกิล 10% ดับบลิวพี) อัตรา 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือโคลไทอะนิดิน (เด็นท๊อช 16% เอสจี) อัตรา 6-9 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรืออิทิโพรล (เคอร์บิกซ์ 10% เอสซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 110 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตรตามอัตราที่ระบุ

หนอนกอ

การป้องกันกำจัด :

  1. เผาตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ปล่อยน้ำท่วม และไถกลบดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง
  2. ปลูกพืชอื่นเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน
  3. ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ทำให้ใบข้าวงาม หนอนกอชอบวางไข่
  4. ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัย และทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง
  5. ไม่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียนไข่ และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว สามารถควบคุมประชากรหนอนกอข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. เมื่อพบอาการข้าวยอดเหี่ยวในระยะข้าวอายุ 3-4 สัปดาห์ หลังหว่าน/ปักดำ ในระดับ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ให้ใช้สารชนิดพ่นน้ำ เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วแปลงเพียงครั้งเดียว

สัตว์ศัตรูที่สำคัญ

หอยเชอรี่

หอยเชอรี่เป็นศัตรูสำคัญของข้าวในระยะกล้าจนถึงแตกกอโดยจะกัดกินลำต้นข้าวใต้ผิวน้ำสูงเหนือระดับโคนต้น ๐.๕ – ๑ นิ้ว และกินส่วนใบที่ลอยน้ำต่อไปจนหมดต้น พบระบาดมากในนาข้าวทั่วไป โดยเฉพาะนาข้าวที่มีน้ำขังพืชอาหาร ข้าว พืชน้ำต่าง ๆ เช่น สาหร่ายหางกระรอก บัว ฯลฯ

การป้องกันและกำจัด

  1. ใช้วัสดุกั้นทุกทางที่น้ำเข้าได้ด้วยเฝือก และตาข่าย
  2. เก็บตัวหอย และไข่นำไปทำลายทุกสัปดาห์ ตลอด 6 สัปดาห์หลังปล่อยน้ำเข้า แปลงนา
  3. ปล่อยให้เป็ดกินหลังเกี่ยวข้าว
  4. ใช้สารกำจัดหอย นิโคลซาไมด์ (ไบลูไซด์ 70% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัม/ไร่ หรือ เมทัลดีไฮด์ (แองโกล-สลัก 5% หรือเดทมีล 4%) หว่านอัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัม/ไร่ หรือเดทมีล 80% ชนิดผง อัตรา 100 กรัม/ไร่ หรือโปรเทก หว่านอัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่
    หรือคอปเปอร์ซัลเฟต ละลายน้ำอัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่ ทันทีหลังปักดำเสร็จ หรือ หลังจากหว่านข้าวและไขน้ำเข้านาแล้ว 1-2 ชั่วโมงโดยมีระดับน้ำในนาสูง 5 เซนติเมตร

การเก็บเกี่ยวและการนวด

การเก็บเกี่ยว

  1. เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม คือ ระยะที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน รวงจะโน้มลง เมล็ดในรวงมีสีฟางหรือเหลือง โคนรวงมีเมล็ดเขียวบ้างเล็กน้อยซึ่งเรียกว่า “ระยะพลับพลึง” เป็นระยะที่เมล็ดข้าวสุกแก่พอเหมาะทำให้ได้นํ้าหนักเมล็ดสูง เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดดี ปริมาณมากและมีคุณภาพการสีดี
  2. วิธีการเก็บเกี่ยว ก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยว 10 วัน ควรระบายนํ้าออกจากแปลงนาเพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวนั้น สามารถทำได้ทั้งการเกี่ยวด้วยมือและใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยว ซึ่งจะให้ข้าวที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกันแต่ถ้ามีการปรับเครื่องจักรให้เหมาะสมกับการทำงาน อาจจะทำให้ข้าวร่วงหล่นหรือเมล็ดแตกหักได้เวลาเกี่ยวข้าว

การนวดข้าว

เป็นการทำให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันไปแต่ละท้องที่ เช่น การนวดด้วยเท้า การใช้วัวกระบือยํ่า นวดโดยการฟาด นวดโดยใช้รถแทรกเตอร์ยํ่า และนวดด้วยเครื่องนวดข้าว ซึ่งการนวดข้าวนั้นมีข้อควรคำนึง คือ ระมัดระวังการสูญเสียของข้าวเนื่องจากนวดไม่หมด หรือเมล็ดกระเด็นหายไปหรือถูกเครื่องนวดพ่นเอาเมล็ดออกไป เป็นต้น ซึ่งหากไม่ได้ใช้เครื่องนวดจะต้องมี
การทำความสะอาดเมล็ดข้าวเปลือกด้วย เพื่อลดสิ่งเจือปนที่ติดมากับข้าว

การตากข้าว

เป็นการลดความชื้นในเมล็ดข้าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ ๑๒ – ๑๔ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อนำไปสีแล้วจะทำให้ได้คุณภาพการสีสูง และสามารถเก็บข้าวเปลือกไว้ได้นาน ซึ่งการตากข้าวมี ๒ วิธีคือ

  1. การตากข้าวก่อนนวด เป็นการตากข้าวในขณะที่เมล็ดอยู่ในรวง โดยการตากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพข้าวที่ตากเป็นสำคัญ โดยทำให้ความชื้นพอเหมาะ และข้าวมีความสะอาด ซึ่งมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
    • ควรตากข้าวประมาณ 2-3 แดด
    • การกองข้าวควรกองให้สูงประมาณ 50 เซนติเมตร
    • หมั่นกลับกองข้าวเพื่อให้แห้งสมํ่าเสมอทั้งกอง
    • ในช่วงเวลากลางคืน ควรหาวัสดุปิดบังนํ้าค้าง หรือนํ้าฝน โดยเฉพาะกองข้าวที่กองสูงๆ หรือกองตากแดดทิ้งไว้นาน ๆ เพราะจะทำให้เมล็ดมีรอยร้าวและข้าวแตกหักมากเวลาสี วิธีการตากข้าวที่เหมาะสมที่สุด คือ ทำ ราวแขวนตาก เพราะจะทำให้ข้าวถูกแดดสมํ่าเสมอและไม่สกปรก
  2. การตากข้าวหลังนวด เป็นการตากข้าวที่นวดออกจากรวงแล้ว โดยตากบนลานตากหรือบนพื้นที่ที่มีวัสดุรองรับ การตากควรมีการกลับกองข้าวอย่างสมํ่าเสมอและในช่วงเวลากลางคืนควรโกยข้าวมากองรวมกันแล้วใช้ภาชนะปิดกันนํ้าค้าง และนํ้าฝนการตากวิธีนี้จะใช้เวลาในการตากประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าว

การเก็บรักษา

มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. เมล็ดจะต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และแมลงศัตรู
  2. เมล็ดแห้ง มีความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
  3. ยุ้งฉางจะต้องสะอาด มีตาข่ายป้องกันนก หนู และศัตรูอื่น ๆ อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีหลังคาปิดกันแดดและกันฝน
  4. ถ้าเก็บรักษาโดยการบรรจุกระสอบ ควรใช้ไม้รองกระสอบควรสูงจากพื้นประมาณ 5-6 นิ้ว เพื่อป้องกันความชื้นจากพื้นดินหรือซีเมนต์

การลงทุน

ต้นทุนการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 คิดจากพื้นที่ จำนวน 1 ไร่

รายการ แรงงาน
ราคาต่อหน่วย นาดำ นาหว่าน น้ำตก
จำนวน หน่วย (บาท) (บาท) (บาท)
1 ไถดะ 1 คัน 250 250 250
2 ไถแปร + ทำเทือก 1 คัน 350 350 350
3 ค่าเมล็ดพันธุ์ (ปักดำ)

ค่าเมล็ดพันธุ์ (หว่าน)

5

15

กก.

กก.

23

23

115

345

4 ค่าจ้างไถเตรียมแปลงกล้า 1 งาน 300 300
5 ค่าจ้างถอนกล้า 100 มัด 3 300
6 ค่าจ้างปักดำ

ค่าจ้างหว่าน

4

2

คน

คน

3

200

300

200

7 ค่าปุ๋ยเคมี 16-16-8 25 กก. 17 425 425
8 ค่าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 7 กก. 13 91 91
9 ค่าจ้างกำจัดวัชพืช 1 ไร่ 1,000 1,000
10 ค่าจ้างเก็บเกี่ยว 1 คน 500 500
11 ค่าจ้างมัด 350 มัด 3 1,050
12 ค่าจ้างนวด 350 มัด 3 1,050
13 ค่าจ้างเก็บเกี่ยว + นวด 1 ไร่ 700 700
รวมต้นทุนการผลิต 5,231 3,361
ผลผลิต (กิโลกรัม) 576 395
ราคากิโลกรัมละ 16 บาท 9,216 6,320
กำไร     3,945 2,959

หมายเหตุ : ข้อมูลปี พ.ศ. 2553


อ้างอิงบทความ

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News