Tuesday, March 19, 2024

หลักการเขียนบทความเพื่อใช้กับเว็บไซต์

Share

เว็บไซต์ที่ดีมีจำนวนผู้เข้าชมมาก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเว็บที่ออกแบบสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ องค์ประกอบหลักที่สำคัญมากอันดับ 1 ก็คือ เนื้อหาภายในเว็บ (Content is a King) ยิ่งเป็นบทความที่เขียนขึ้นมาเองสดใหม่ ไม่ไปคัดลอกใครมา Search Engine ยิ่งชอบและจะให้คะแนนความน่าเชื่อถือกับเว็บเราสูงขึ้น ต่อให้ออกแบบเว็บได้สวยงามขนาดไหน แต่ไม่มีเนื้อหาหรือสาระสำคัญอะไรเป็นตัวชูโรง ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เว็บไซต์เป็นที่จดจำ

เนื้อหาในเว็บไซต์ มีได้หลายประเภท เช่น บทความ, วีดีโอ และ ภาพถ่าย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเว็บต้องการจะสื่อออกมาแบบไหน ในบทความนี้จะแนะนำเทคนิคในการเขียนบทความเพื่อใช้งานในเว็บไซต์ที่พิสูจน์จากสถิติของเว็บไซต์นี้แล้วว่าได้ผลดี แต่ไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีหรือหนังสือใด ๆ ที่เกี่ยวกับงานเขียนเลยนะ … สรุปสาระและใจความสำคัญมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาล้วน ๆ

1. เขียนเรื่องที่ชอบและมีความรู้ในเรื่องนั้น

ไม่ใช่แค่การเขียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าลงมือทำในสิ่งที่ชอบเป็นตัวตั้งต้นเราจะทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าอย่างอื่น การเขียนบทความก็ตกอยู่ในกฎเหล่านี้ไม่ต่างกัน เมื่อเราเขียนบทความขึ้นมาสักเรื่อง เราจะสามารถเจาะลึกในรายละเอียดได้เกือบทุกแง่ทุกมุม มีความสุขที่จะสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นออกมาทางตัวหนังสือ

2. เขียนบทความให้คนอ่าน ไม่ได้เขียนให้กูเกิ้ลอ่าน

จำไว้เลยว่า เรากำลังเขียนบทความเพื่อให้คนเข้ามาค้นหาข้อมูล ไม่ได้ทำเพื่อให้กูเกิ้ลมาเก็บข้อมูล ถึงแม้ว่าการเขียนบทความของเราจะเป็นการโปรโมทเว็บด้วย SEO ก็ตาม ผมเจอเป็นจำนวนไม่น้อยที่เขียนบทความมีโครงสร้างตรงเป้ะตามที่กูเกิ้ลต้องการ ไม่ว่าจะหัวเรื่อง คีย์เวิร์ดที่แทรกลงไปในเนื้อหา แต่เมื่อกดเข้าไปอ่าน กลับเป็นบทความที่อ่านไม่รู้เรื่อง วกไปวนมา สักแต่จะใส่คีย์เวิร์ดย้ำแล้วย้ำอีก การทำแบบนี้อาจจะดีแค่ช่วงแรกที่ติดอันดับ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานหรอก เมื่อคนไม่เข้าไปอ่าน ต่อให้เขียนบทความมากมายแค่ไหน ก็เสียเวลาเปล่า ๆ

กลับกัน ถ้าเป็นบทความที่เขียนออกมาจากใจ เน้นเนื้อหาอย่างพิเนียดบรรจง คนอ่านจะสัมผัสถึงความตั้งใจของเราได้เอง เมื่อนั้นก็จะเกิดความไว้ใจและกลับมาหาข้อมูลจากเว็บเราเรื่อย ๆ ส่งผลดีต่อเนื่อง ทำให้มีช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้นจากเว็บนั่นเอง

3. มีเกริ่นนำและบทสรุปของบทความ

การใส่เกริ่นนำและบทสรุปแต่ละบทความไม่ได้เป็นเรื่องที่จำเป็นเสมอไป แต่ก็ควรที่จะใส่เอาไว้เพื่อให้ผู้อ่านรู้ที่มาที่ไปของบทความที่เรากำลังจะเสนอ กล่าวถึงสาระสำคัญเริ่มต้นสักเล็กน้อย ไม่ต้องออกทะเลมาก เข้าถึงภาพรวมของเนื้อหาให้ได้ภายในบทนำ ก่อนจะไปเข้าสาระสำคัญแบบละเอียดยิบในหัวข้อย่อยแต่ละอัน สุดท้ายค่อยสรุปทิ้งท้ายอีกสักรอบ ถ้ามีการแบ่งบทความดังกล่าวเป็นตอน ๆ ก็ทิ้งไว้ในตอนท้าย หรือ จะใส่ไว้ตั้งแต่เกริ่นนำเลยก็ได้ ให้ผู้อ่านได้รู้ตัวสักนิดถ้าอ่านแล้วติดใจ จะได้ติดตามอ่านตอนต่อ ๆ ไป ไม่ต้องจบแบบค้างคา เหมือนหนังฮอลลีวู้ดบางเรื่อง

4. แบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ 

การแบ่งเนื้อหาบทความออกเป็นหัวข้อย่อย เป็นการช่วยให้การอ่านยุ่งยากน้อยลง เพราะผู้อ่านจะได้ไม่เจอแต่ตัวหนังสือยาวเป็นพรืดอ่านแล้วปวดตาพาลปิดหน้าจอทิ้งแถมไม่กลับมาอ่านอีกเลย ช่วยให้รับรู้เรื่องราวในเนื้อหาแต่ละเรื่องได้ดีขึ้น เมื่อเห็นหัวข้อย่อยก็จะรู้ได้เลยว่ามันคืออะไร บางคนก็จะอ่านเนื้อหาย่อยได้เร็วและเข้าใจยิ่งขึ้น ก็ในเมื่อรู้แล้วนี่นาว่าหัวข้ออะไร สาระสำคัญมันถูกฝังอยู่ในหัวอยู่แล้ว

5. ไม่ต้องรีบ

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียว การก่อสร้างบ้านสักหลังก็ใช่ว่าจะสร้างภายในวันเดียว การเขียนบทความก็เช่นกัน!! … ยิ่งผู้เริ่มต้นเขียนบทความด้วยแล้ว ไม่ต้องรีบร้อนขีดเส้นให้ตัวเองว่าบทความนึงต้องเสร็จภายในกี่ชั่วโมง หรือวันนึงต้องเขียนได้กี่บทความ บางบทความที่ผมเขียนใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงแม้บทความนั้นจะไม่มีเนื้อหาที่ยาวหรืออะไรเลย แต่สิ่งที่ต้องการเน้นคือคุณภาพมากกว่าความยาวบทความ อุปสรรคอีกอย่างที่ทำให้ใช้เวลาในการเขียนก็คือการเรียบเรียงและสื่อสิ่งที่คิดออกมาเป็นตัวอักษร มันเป็นศิลปะอย่างนึงที่ยากพอ ๆ กับการพูดคุย

ถ้ากลัวว่าจะลืมก็ให้ใส่หัวข้อหรือโน๊ตสั้น ๆ เอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาแจกแจงรายละเอียดในภายหลังก็ได้ ปล่อยให้สมองได้พัก ระหว่างนั้นอาจจะเกิดไอเดียบรรเจิดกลับมาเขียนได้น่าอ่านกว่าเดิมก็ได้

ไม่ต้องห่วงว่าจะใช้เวลาในการเขียนบทความนานเสมอไป เมื่อเขียนบทความไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะมีความชำนาญในการใช้คำเองโดยไม่รู้ตัว บทความหลัง ๆ ก็จะใช้เวลาในการเขียนน้อยลงแถมน่าอ่านน่าติดตามกว่าเดิมซะด้วย

6. ระมัดระวังเรื่องไวยากรณ์

นักเขียนหลายคนมาตกม้าตายตรงนี้ คำง่าย ๆ ยังเลือกใช้งานไม่ถูก เช่น คะ-ค่ะ หรือ เรื่อย-เลื่อย บางคำเป็นคำพ้องเสียงที่แยกออกค่อนข้างยากเวลาพูด แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาเขียนจะทำให้ความหมายเปลี่ยนออกไปคนละทิศคนละทาง ส่วนการใส่สระหรือวรรณยุกต์ก็ เป็นการสื่อถึงความเป็นมืออาชีพและใส่ใจในบทความ ถ้าคำไหนไม่แน่ใจ ก็ค้นหาดูในพจนานุกรมหรือค้นจากกูเกิ้ลก็ได้คำตอบเหมือนกัน

ผ่านเรื่องไวยากรณ์ไปแล้วเมื่อเขียนบทความเสร็จแล้ว … อย่าลืมกลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนซ้ำสักรอบหนึ่ง ย้ำนะว่าต้องอ่าน “ถ้าเราไม่อ่านแล้วใครจะอ่าน” ถือเป็นการทบทวนตรวจสอบความถูกต้องและเน้นคุณภาพของบทความกันอีกที … ย้ำมันเข้าไปครับ อย่าให้คุณภาพตก


สุดท้าย หมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จะศึกษาลักษณะการเขียนจากคู่แข่งก็ยังได้ เดี๋ยวนี้ข้อมูลและเครื่องไม้เครื่องมือมีมากมายไม่รู้จะแนะนำให้เลือกตัวไหน เอาง่ายที่สุดก็เข้ากูเกิ้ลแล้วค้นหาสิ่งที่เรากำลังจะเขียน ดูว่าอันดับต้น ๆ ที่แสดงผลเค้าเขียนกันยังงัย แล้วก็เอามาปรับปรุงเขียนในภาษาและสไตล์ของเราเอง … แต่ย้ำกันอีกรอบว่า “อย่าก๊อปปี้” เป็นอันขาด


ภาพประกอบบทความ : https://www.freepik.com

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News