Tuesday, March 19, 2024

โซเดียม คืออะไร?

Share

เคยได้ยินมั้ยครับว่า อันนี้โซเดียมสูงอย่ากินเยอะ … อันนั้นก็โซเดียมสูง อย่าไปกินเลย … ผมได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ แต่ก็ปล่อยผ่านไปหลายครั้งเช่นกัน เพราะไม่ได้สนใจว่าถ้าบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงแล้วมันจะส่งผลอะไรต่อสุขภาพบ้าง แต่หลังจากเริ่มหันกลับมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดความสงสัยและอยากให้กระจ่างเกี่ยวกับโซเดียม จึงเป็นที่มาเกี่ยวกับโซเดียมในบทความนี้

โซเดียม เป็นสารอาหารจำพวกเกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะจะทำหน้าที่คอยควบคุมและปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ ช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางชนิดในไตและสำไล้เล็ก อีกทั้งช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อหัวใจด้วยนะ)

ในชีวิตประจำวัน เราจะได้รับโซเดียมจากการบริโภคเกลือ น้ำปลา เครื่องปรุงรสและอาหารที่มีรสเค็ม สถิติจากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 7 กรัม

อาหารที่มีโซเดียม

อาหารแปรรูป หรือ อาหารที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ อาหารกระป๋องทุกประเภท ทั้งปลากระป๋อง ผลไม้กระป่อง .. อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า อาหารเค็มทุกชนิด

อาหารตามธรรมชาติ จะเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่จะมีส่วนผสมของโซเดียมในปริมาณที่สูงอยู่แล้ว ส่วนอาหารตามธรรมชาติที่จะมีประมาณโซเดียมต่ำ คือ ผลไม้ทุกชนิด ผัก เนื้อปลา ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง

โซเดียมที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาตินั้นเพียงพอสำหรับร่างกายอยู่แล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มเครื่องปรุงรสใด ๆ เข้าไป

ผงชูรส ถึงแม้ว่าผงชูรสจะเป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีส่วนประกอบของโซเดียมอยู่ประมาณร้อยละ 15 เรามักจะเห็นว่าอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด จะมีการเติมผงชูรสลงไปด้วยแทบจะทุกชนิด เพราะต้องการให้อาหารเหล่านั้นมีรสชาติที่ดีขึ้น แม้แต่ตามบ้านเองก็มีการเติมผงชูรสเช่นกัน

เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสปรุงรสที่มีรสเค็ม ทั้งซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว กะปิ ปลาร้า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม, ซอสปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มหรือมีรสเค็มน้อย เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่าง ๆ, และแน่นอน เกลือ กับ น้ำปลา ซึ่งมีรสเค็มเป็นเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูงที่สุด

อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวต้ม ซุปต่าง ๆ ทั้งแบบก้อนและแบบซอง โจ๊ก บะหมี่ อาหารเหล่านี้มักจะเติมผงชูรสลงไปด้วย

ขนมทั่วไปที่มีการเติมผงฟู หรือ Baking Soda เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ขนมปัง แพนเค้ก เพราะผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้ จะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย รวมไปถึงแป้งที่นำมาทำอาหารก็ได้ผสมผงฟูไว้อยู่แล้ว

น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่น้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียมปนอยู่บ้าง ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อต่างๆ มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพราะมีจุดประสงค์จะให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วย ทำให้น้ำผลไม้เหล่านี้ มีโซเดียมสูง วิธีหลีกเลี่ยงคือดื่ม น้ำผลไม้สดจะดีกว่า


จากข้อมูลข้างต้นจะสามารถสรุปได้ว่า โซเดียม มีมากในอาหารที่ผ่านการแปรรูปแทบทั้งสิ้น ยิ่งบริโภคอาหารสำเร็จรูปหรือแปรรูปมาก ก็ยิ่งจะได้รับโซเดียมส่วนเกินสะสมในร่างกาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณเล็กน้อยให้เพียงพอสำหรับมาใช้งานเท่านั้น ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลในการทำงานของไตได้


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ กาเหว่าดอทคอม สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้โดยต้องอ้างอิงแหล่งที่มาคือบทความนี้ และใส่ลิงค์กลับมาที่บทความนี้ทุกครั้ง

ภาพประกอบ : freepik.com

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News