Tuesday, March 19, 2024

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบอันตรายที่ไม่ใช่แค่ดื่มแอลกอฮอล์

Share

ไขมันพอกตับ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบได้บ่อย ๆ โดยพบมากในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน จัดเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพผู้คนมากมาย เพราะว่าผู้ป่วยไขมันพอกตับมักไม่ค่อยมีอาการบ่งชี้ หากมีก็ไม่เฉพาะเจาะจงมากนัก บางคนกว่าจะทราบว่าป่วย โรคก็อาจจะดำเนินไปถึงระยะรุนแรงแล้ว เพราะฉะนั้นจะเป็นโอกาสที่ดีหากมาทำความเข้าใจภาวะไขมันพอกตับกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ป้องกันและรับมือกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือ ภาวะที่ตับมีการสะสมของไขมันไตรกลีเซอไรด์มากเกิน 5-10% เป็นโรคที่มักไม่มีอาการในช่วงแรก ๆ แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับไขมันมากเกินไปและไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมด ไขมันส่วนเกินจึงไปสะสมตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งใต้ผิวหนังและอวัยวะภายใน โดยตับเป็นจุดที่สะสมไขมันได้ง่ายและรวดเร็ว สำหรับโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตับอักเสบได้ รวมถึงเพิ่มโอกาสต่อการเป็นโรคมะเร็งตับอีกด้วย ไขมันพอกตับเป็นโรคที่พบได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในคนอ้วน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบเผาผลาญจะด้อยลงตามวัย

สาเหตุที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับ

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคไขมันพอตับนั้นสามารจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณการดื่ม
  • สาเหตุอื่น จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความเจ็บป่วย เช่น การทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ๆ เป็นประจำ ไม่ออกกำลังกาย โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรค อาทิ เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูง กว่า 90% มีภาวะไขมันพอกตับร่วมด้วย ในจำนวนนี้มีผู้ที่ตับอักเสบถึง 20% และอีก 10% จบลงด้วยโรคตับแข็ง

อาการของคนที่เป็นไขมันพอกตับ

โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ เว้นแต่โรคจะอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว ผู้ที่ทราบว่าตัวเองป่วยโดยมากจะทราบจากการตรวจร่างกายประจำปีเสียมากกว่า โดยระยะการพัฒนาของโรคจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)
Stages of liver disease
  • ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ไขมันเริ่มเข้ามาสะสมที่ตับ แต่ว่ายังมีปริมาณน้อย ตับยังไม่อักเสบ ไม่มีพังผืดและไม่มีความผิดปกติอื่นใด
  • ระยะที่ 2 ตับเริ่มมีการอักเสบบ้างแล้ว หากไม่ได้รับการรักษานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป จะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะที่ 3 เซลล์ตับเริ่มถูกทำลาย มีพังผืดเข้ามาแทนที่และสะสมแทนเนื้อตับ ในระยะนี้หลายคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ปวดตึงแถวชายโครงขวา บางคนกดที่ชายโครงแล้วรู้สึกเจ็บ
  • ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลายจนไม่สามารถกลับมาทำงานตามปกติได้อีกต่อไป ทำให้ตับแข็งและเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งตับได้ในอนาคต

การป้องกันและดูแลรักษาเมื่อเป็นไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ เป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ง่ายมากโดยเฉพาะถ้าป่วยในระยะแรก ๆ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชีวิตและหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น อาการของโรคจะทุเลาอย่างรวดเร็ว แนวทางการปฏิบัติมีดังต่อไปนี้

  1. รักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ สำหรับใครที่น้ำหนักเกินแนะนำให้ลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารควบคู่ไปด้วย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง หากจะทานไขมันควรเลือกทานเฉพาะไขมันดี เช่น ถั่ว ธัญพืช อะโวคาโด้ น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน เพราะจะช่วยลดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ได้ เพิ่มการทานผักและสารอาหารบางชนิดเพื่อเร่งการกำจัดสารพิษและเยียวยาสุขภาพตับให้ดีขึ้น อาทิ บล็อกโคลี่ หอม กระเทียม กะหล่ำปลี แมกนีเซียม วิตามินบี3 เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ตับจะสามารถฟื้นฟูจนกลับมาทำงานเป็นปกติได้หากลดน้ำหนักลงอย่างน้อย 7-10%

การลดน้ำหนักนอกจากจะดีต่อโรคไขมันพอกตับแล้ว ยังส่งผลดีต่อโรคอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูงฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงมากขึ้น รูปร่างก็จะสวยงามสมส่วนขึ้นด้วยเช่นกัน

  1. หากป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูงอยู่ ต้องเข้ารับการรักษาจนกว่าจะหายดี ทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่ง งดไปหาซื้อยาหรือวิตามินที่นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์มาทานเอง
  2. งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
  3. ไปตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

ถึงแม้ไขมันพอกตับจะมีพัฒนาการของโรคที่ค่อนข้างช้า แต่ว่าหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะรักษาได้ง่ายกว่า เพราะเป้าหมายการรักษาสูงสุดคือป้องกันและหยุดยั้งการอักเสบของตับ เพราะฉะนั้นใครที่ชอบทานอาหารมัน ๆ หวาน ๆ หรือดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ถึงแม้รูปร่างจะยังไม่อ้วนมากนัก แต่ก็ควรไปเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าตับทุกปี เมื่อตรวจพบจะได้รักษาอย่างทันท่วงที


ภาพประกอบ https://www.freepik.com 

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News